ข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวจังหวัดหนองบัวลำภู

จังหวัดหนองบัวลำภู เป็นเมืองที่ตั้งอยู่บนที่ราบสูงระหว่างหุบเขา โอบล้อมด้วยเทือกเขาภูพาน จากเหนือจดใต้ และภูเก้าในทางทิศใต้

มีประวัติความเป็นมาอันยาวนาน มากมายด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ หนองบัวลำภูมีสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย ไม่ว่าจะเป็นด้านธรรมชาติอันสวยงาม โบราณสถานหรือเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ แหล่งโบราณคดี และวัดวาอาราม

หนองบัวลำภูเป็นเมืองโบราณที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน เดิมเป็นดินแดนที่ขึ้นต่อกรุงศรีสัตตนาคนหุต(เวียงจันทน์)มีชื่อว่า “เมืองหนองบัวลุ่มภู นครเขื่อนขันธ์ กาบแก้วบัวบาน” ตำนานเล่าไว้ว่า เมื่อ พ.ศ. 2310 ท้าวตาได้ไปสร้างเมืองอุบล ส่วนท้าววอ (พระวรราชภักดี) ได้ไปสร้างเมืองนครเขื่อนขันธ์ กาบแก้วบัวบาน ใน พ.ศ. 2419 เมื่อเสร็จศึกฮ่อครั้งที่ 1 ส่วนเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ดำรงตำแหน่งเป็นแม่ทัพใหญ่ได้มาชุมนุมพักที่หนองคาย

และได้ให้ท้าวพิมพา (พระวิชโยดมกมุทรเขต) เป็นเจ้าเมืองครองนครเขื่อนขันธ์ และเปลี่ยนชื่อเมืองเป็น “กมุทธาศรัยบุรีรมย์” จากนั้นได้มีการเปลี่ยนแปลงเรื่อยมา จนหนองบัวลำภูแยกมาจากจังหวัดอุดรธานีและเป็นจังหวัดลำดับที่ 76 อย่างเป็นทางการในวันที่ 1 ธันวาคม 2536

จังหวัดหนองบัวลำภูมีพื้นที่ประมาณ 3,859 ตารางกิโลเมตร แบ่งการปกครองออกเป็น 6 อำเภอ คือ อำเภอเมืองหนองบัวลำภู โนนสัง ศรีบุญเรือง นากลาง สุวรรณคูหา และนาวัง

ข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวจังหวัดหนองบัวลำภู

พระอนุสาวรีย์และศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช : สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์เมื่อครั้งสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เสด็จยกกองทัพมาที่ตำบลหนองบัวลำภูเมื่อ พ.ศ. 2117 เพื่อไปช่วยพระเจ้ากรุงหง-สาวดี ที่กรุงศรีสัตตนาคนหุต (เมืองเวียงจันทน์) เนื่องจากขณะนั้นไทยเป็นเมืองขึ้นของกรุงหงสาวดี แต่สมเด็จพระนเรศวรทรงพระประชวร พระเจ้ากรุงหงสาวดีจึงให้ยกทัพกลับกรุงศรีอยุธยา

สถานที่ดังกล่าวตั้งอยู่ในบริเวณสวนสาธารณะริมหนองบัว หน้าที่ว่าการอำเภอเมืองหนองบัวลำภู ในวันที่ 25 มกราคม – 3 กุมภาพันธ์ ทุกปีทางจังหวัดจะจัดให้มีงานเฉลิมฉลองและมีพิธีถวายสักการะบวงสรวงดวงวิญญาณของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

หนองบัว : เป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ อยู่บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอหนองบัวลำภู เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจในยามเย็นของชาวหนองบัวลำภู โดยเชื่อกันว่า สองนางเป็นหลานสาวฝาแฝดของพระวอพระตาผู้ก่อตั้งเมืองหนองบัวลำภู ชื่อคำศรีและคำใส มีหน้าที่เฝ้าฆ้องยักษ์ที่มาจากนครเวียงจันทน์ไม่ให้ใครขโมยเอาไป ด้านหลังของหนองบัวจะมองเห็นแนวเขาภูพานคำทอดยาวดูสวยงาม ด้านตะวันตกจะมีหอสองนาง

ศาลหลักเมืองพระวอ พระตา : อยู่ห่างจากทางหลวงหมายเลข 210 (หนองบัวลำภู-อุดรธานี) ประมาณ 100 เมตร ศาลนี้สร้างขึ้นเพื่อให้ชาวหนองบัวลำภูได้เคารพสักการะพระผู้สร้างเมือง ซึ่งหมายถึงพระวอ และพระตา เพื่อแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวทิตา ศาลหลักเมืองได้ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2518 สร้างเสร็จและประกอบพิธีเปิดเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2519

พิพิธภัณฑ์หอยหิน 150  ล้านปี : ตั้งอยู่ที่บ้านห้วยเดื่อ ตำบลโนนทัน จัดแสดงเกี่ยวกับซากฟอสซิลหอยอายุราว   140-150 ล้านปี ซึ่งค้นพบจำนวนมากที่บริเวณหน้าผาสูงชัน 50 เมตร ขณะเดียวกันยังค้นพบซากกระดูกจระเข้โบราณ เศษหินจาไมก้า และแร่ธาตุบางชนิดอีกด้วย

ภายในบริเวณยังสามารถชมอาคารแสดงนิทรรศการกระดูกไดโนเสาร์ที่ขุดพบอยู่ในชั้นหินเหนือชั้นที่พบซากหอยหิน 2 เมตร  เป็นกระดูกขาหน้าส่วนบนทั้งซ้ายและขวา  ขาหลังส่วนล่าง  กระดูกสะบัก กระดูกนิ้ว กระดูกซี่โครง ฯลฯ

ปัจจุบันจังหวัดหนองบัวลำภู ได้พัฒนาแหล่งค้นพบฟอสซิลไดโนเสาร์และหอยหิน บ้านห้วยเดื่อ ให้เป็นแหล่ง “UNSEEN หนองบัวลำภู”  ในลักษณะ ของ site Museum โดยจัดพื้นที่แสดงออกเป็น 6 โซน ประกอบด้วย

โซนที่ 1 โซนต้อนรับ จุดเด่น ครอบครัวไดโนเสาร์โนนทัน

โซนที่ 2 โซนท่องจักรวาล กำเนิดเอกภพ สุริยะ จักรวาล และโลก   จุดเด่น โมเดลเคลื่อนที่ จำลองดวงอาทิตย์ และดวงดาวในระบบสุริยะ ประกอบด้วย ดวงอาทิตย์ล้อมรอบด้วยกลุ่มดาวเคราะห์บริวาร ได้แก่ ดาวพุธ ดาวศุกร์ โลก ดาวอังคาร ดาวพฤหัสบดี ดาวเสาร์ ดาวยูเรนัส  ดาวเนปจูน  และดาวพลูโต

โซนที่ 3 โลกแหล่งกำเนิดชีวิต ให้ความรู้เกี่ยวกับวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตบนโลก ทั้งพืชและสัตว์ รวมทั้งมนุษย์ ตั้งแต่อดีต – ปัจจุบัน

โซนที่ 4 อาณาจักรนักล่า ให้ความรู้เกี่ยวกับไดโนเสาร์ และซากดึกดำบรรพ์ที่พบในประเทศไทย  รวมถึงแสดงซากกระดูกไดโนเสาร์ที่พบที่บ้านห้วยเดื่อ ต.โนนทัน อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู และ แสดงหุ่นจำลองไดโนเสาร์  สยามโมโทรันนัส อิสานเอนซิล ขนาดสูง 4 เมตร ยาว 7 เมตร เคลื่อนไหวได้ 8 ตำแหน่ง

โซนที่ 5 มหัศจรรย์แห่งการเดินค้นพบ   จุดเด่น ผนังจำลองพร้อมจัดแสดงฟอสซิลหอยหินโมเดล 150 ล้านปี ผู้ชมสามารถมองดู และฟังการบรรยายภาษาพื้นบ้านได้

โซนที่ 6 ตามรอยนักสำรวจ   จุดเด่น แสดงการทำงานของนักชีววิทยา และนักธรณีวิทยา ครื่องมือ อุปกรณ์ ขั้นตอนการศึกษาฟอสซิล  ประวัติการสำรวจของธรณีวิทยาที่แหล่งฟอสซิลหอยหิน 150 ล้านปี

สนใจติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ องค์การบริหารส่วนตำบลโนนทัน  ต.โนนทัน  อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู ๓๙๐๐๐  โทร. 0 4200 0048  ต่อ 11     โทรสาร 0 4200 0048  ต่อ 18

เดินทางใช้ทางหลวงหมายเลข 210 (หนองบัวลำภู-อุดรธานี) กิโลเมตรที่ 88 จากตัวเมือง ประมาณ 10 กิโลเมตร จะถึงหมู่บ้านห้วยเดื่อ ตำบลโนนทัน อยู่ทางด้านซ้ายมือ หรือสามารถใช้บริการรถโดยสารประจำทางสายหนองบัวลำภู-อุดรธานี

ภูหินลาดช่อฟ้า : ตั้งอยู่ที่ตำบลโนนทัน เป็นเขาหินสูงสลับซับซ้อนมีช่องทางเดินในเขาและมีถ้ำขนาดใหญ่น้อยมากมาย

ในอดีตเคยเป็นปราการสำคัญของพรรคคอมมิวนิสต์  เป็นโรงเรียนการเมือง  เขตฝึกกำลังรบและกอง บัญชาการใหญ่ที่จัดส่งกำลังคนกระจายไปประจำในหลายจุด  มีสถูปเก็บอัฐิของคนที่ตายในการรบกว่า 200 ชีวิต

ทุกปีในช่วงฤดูร้อนจะมีพิธีทำบุญอุทิศให้ผู้เสียชีวิต ลานฝึกใหญ่ในอดีตขณะนี้ใช้เป็นลานดูดาว   สามารถมองลงไปเบื้องล่างจะเห็นอำเภอหนองวัวซอ อำเภอกุดจับ จังหวัดอุดรธานี ตามถ้ำต่างๆ จะพบถ้ำวิทยุ ถ้ำเวที ทับโรงพยาบาล ถ้ำสะเบียงและทับโรงแรมสำหรับสหายชายหญิงที่แต่งงานใหม่ไปฮันนีมูน

วัดถ้ำกลองเพล : เป็นวัดป่าที่มีชื่อเสียงของจังหวัด ตั้งอยู่เชิงเขาภูพาน  สันนิษฐานว่าเป็นวัดเก่าแก่สร้างขึ้นในสมัยขอมเข้ามาครอบครองแผ่นดิน ไม่ปรากฏหลักฐานการสร้าง ต่อมาได้กลายเป็นวัดร้าง ไม่มีพระภิกษุสามเณรจำพรรษา จนกระทั่ง พ.ศ. 2501 พระอาจารย์หลวงปู่ขาว อนาลโย พระวิปัสสนากรรมฐานสายพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตะเถระ ได้อาศัยวัดแห่งนี้เป็นสถานที่วิปัสสนากรรมฐาน

ตรงบริเวณหมู่ก้อนหินขนาดใหญ่ 3-4 ก้อน มีหลืบและชะโงกหินก่อเป็นหลังคาคอนกรีตเชื่อมถึงกัน กลายเป็นห้องโถงขนาดใหญ่ โดยใช้เป็นที่บำเพ็ญสมณธรรมจนกระทั่งมรณภาพเมื่อปี พ.ศ. 2526 ภายในบริเวณวัดบรรยากาศร่มรื่น เงียบสงบ มีเนื้อที่กว้างขวางปกคลุมไปด้วยแมกไม้ ป่าเขียว และสวนหินธรรมชาติรูปร่างประหลาดดูสวยงาม ภายในห้องโถงใหญ่ (พระอุโบสถ) ยังประดิษฐานรูปปั้นของหลวงปู่ขาว และกลองโบราณสองหน้า หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “กลองเพล”  ตามซอกหินมีพระพุทธรูปขนาดใหญ่ประดิษฐานอยู่หลายองค์

ประกอบด้วย พระพุทธรูปปางสมาธิ พระพุทธรูปปางไสยาสน์ พระพุทธรูปปัญฑรนิมิตร ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางลีลาที่จำหลักลงในก้อนหิน และด้านหน้าเป็นที่ประดิษฐานพระสังกัจจายน์องค์ใหญ่   มีถนนลาดยางลัดเลาะไปตามแนวป่า และหมู่ก้อนหินรูปทรงแปลกๆ เป็นระยะทาง 2 กิโลเมตร จะถึงอนุสรณ์สถานของหลวงปู่ขาว ประกอบด้วย

พิพิธภัณฑ์อัฐบริขารหลวงปู่ขาว อนาลโย  สร้างขึ้นเพื่อเก็บอัฐิและรวบรวมเครื่องอัฐบริขารของหลวงปู่ เป็นที่สักการบูชาของพุทธศาสนิกชนทั่วไป

กุฏิเก่าของหลวงปู่ขาว  เป็นเรือนไม้หลังเล็กๆ อยู่กลางดงไม้ บรรยากาศร่มรื่น ส่วนกุฏิใหม่สร้างเป็นเรือนทรงไทยทันสมัยหลังใหญ่

พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งหลวงปู่ขาว สร้างขึ้นในรูปทรงของก้อนหินเรียงกัน 3 ก้อน เพื่อให้เข้ากับภูมิประเทศของวัดถ้ำกลองเพล ซึ่งเต็มไปด้วยสวนหิน รอบๆ ตกแต่งด้วยไม้ดอกและสนามหญ้าสีเขียวขจี  ภายในพิพิธภัณฑ์มีหุ่นขี้ผึ้งของหลวงปู่ประดิษฐานอยู่ในท่านั่ง ห้องข้าง ๆ ยังมีเครื่องอัฐบริขารของหลวงปู่ขาวตั้งแสดงไว้ด้วย

เจดีย์หลวงปู่ขาว  สร้างขึ้นเมื่อใช้บรรจุอัฐิหลวงปู่ขาว สร้างอยู่บนลานหินมีบันไดเป็นทางเดินขึ้นไปสู่องค์เจดีย์

มณฑปหลวงปู่ขาว เป็นมณฑปจัตุรมุขที่หลวงปู่ขาวสร้างไว้ครั้งยังมีชีวิต อยู่เพื่อใช้เป็นที่ประกอบพิธีสังฆกรรม รอบ ๆ บริเวณ เงียบสงบและร่มรื่น เดินทางจากตัวเมืองไปตามทางหลวงหมายเลข 210 (หนองบัวลำภู-อุดรธานี) ประมาณ 13 กิโลเมตร จากนั้นเลี้ยวขวาเข้าไปอีกประมาณ 2 กิโลเมตร

อุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ  : ได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ ลำดับที่ 50 เมื่อ พ.ศ. 2528 ครอบคลุมพื้นที่ 322  ตารางกิโลเมตร อยู่ในเขตอำเภออุบลรัตน์ และอำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น และอำเภอโนนสัง จังหวัดหนองบัวลำภู บริเวณอุทยานฯ เป็นเทือกเขาหินทราย 2 แห่ง ที่อยู่ห่างกัน ผืนป่าส่วนใหญ่เป็นป่าเต็งรัง ที่เหลือเป็นป่าเบญจพรรณและป่าดิบแล้ง มีที่ทำการอุทยานฯ อยู่ริมทะเลสาบเหนือเขื่อนอุบลรัตน์ ซึ่งอยู่ในบริเวณภูพานคำ

ภูพานคำ  : เป็นทิวเขาด้านตะวันออกของลุ่มน้ำพอง และเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาภูพาน ตอนบนมีจุดชมวิวช่องเขาขาดสามารถมองเห็นทัศนียภาพที่สวยงามของทะเลสาบเหนือเขื่อนอุบลรัตน์ บริเวณทะเลสาบท้ายเขื่อนอุบลรัตน์ ภูพานคำนี้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาและเป็นแหล่งตกปลาที่มีชื่อเสียงของจังหวัด

ภูเก้า : เป็นเทือกเขาหินทรายสลับซับซ้อน คล้ายกระทะหงาย ประกอบด้วยภูเขา 9 ลูก คือ ภูฝาง ภูขุมปูน ภูหัน ภูเมย ภูค้อหม้อ ภูชั้น ภูเพราะ ภูลวก และภูวัด ภูทั้ง 9 ลูกนี้มีความสลับซับซ้อนมาก ประกอบด้วยป่าไม้ สัตว์ป่านานาชนิด

บนภูเก้ามีสถานที่น่าสนใจอยู่หลายแห่งได้แก่ รอยเท้านายพราน และรอยตีนหมา เป็นรอยเท้าขนาดใหญ่ 2 รอย ลักษณะคล้ายรูปเท้ามนุษย์และสุนัขขนาดใหญ่สลักบนหิน อันเกี่ยวโยงกับนิทานพื้นบ้านเรื่อง “พระสุพรหมวิโมขา กับหมาเก้าหาง” ถ้ำเสือตก ถ้ำพลาไฮ ถ้ำเจ็ก เป็นแหล่งโบราณคดีที่มีการสำรวจพบภาพเขียนสีและภาพสลักบนผนังถ้ำ อายุไม่ต่ำกว่า 3,500 ปี

เสาหินหามต่าง เป็นลานหินที่มีก้อนหินรูปทรงต่าง ๆ ที่โดดเด่นคือหินก้อนใหญ่ที่วางอยู่ซ้อนกันคล้ายกับดอกเห็ด  หอสวรรค์ เป็นจุดชมทิวทัศน์ มีก้อนหินขนาดใหญ่ตั้งอยู่ริมหน้าผาสูง 30 เมตร มีบันไดให้ปีนขึ้นไปบนก้อนหินซึ่งมีศาลาตั้งอยู่น้ำตกตาดฟ้า น้ำตกขนาดเล็กไหลมาตามลำธารท่ามกลางป่าเบญจพรรณ ก่อนจะทิ้งตัวลงมาตามชั้นหินสูง 7 เมตร ลงแอ่งน้ำใหญ่เบื้องล่างในอุทยานฯ มีกิจกรรมพายเรือชมทิวทัศน์บริเวณอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์และมีบ้านพักบริการ

สอบถามได้ที่ อุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ โทร. 08 1221 0526 หรือกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช  โทร. 0 2562 0760 หรือwww.dnp.go.th การเดินทางไปยังอุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ

สามารถเดินทางไปได้ 2 ทาง คือ

เส้นทางที่ 1  ตามเส้นทางขอนแก่น-เขื่อนอุบลรัตน์ ทางหลวงหมายเลข 2109 ถึงอำเภออุบลรัตน์  เลี้ยวขวาไปตามทางหลวงหมายเลข 2146   (อุบลรัตน์-โนนสัง) ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ รวมระยะทาง 63 กิโลเมตร

เส้นทางที่ 2  จากตัวเมืองหนองบัวลำภูตามทางหลวงหมายเลข 2146 หนองบัวลำภู-โนนสัง ระยะทางประมาณ 40 กิโลเมตร ถึงสามแยกบ้านโสกจาน จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าสู่เส้นทางสายบ้านโสกจาน-เขื่อนอุบลรัตน์ ระยะทางประมาณ 14 กิโลเมตร ถึงที่ทำการการอุทยานฯ รวมระยะทาง 57 กิโลเมตร

ภูพานน้อย : เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาภูพานที่ทอดตัวจากทิศตะวันออก อำเภอเมืองหนองบัวลำภูไปทางทิศใต้ที่ ภูเก้า อำเภอโนนสัง มีพื้นที่ 35,000 ไร่ อยู่บนเทือกเขาสูงชัน สามารถมองเห็นตัวเมืองหนองบัวลำภูเบื้องล่าง  เนื่องจากอยู่ห่างตัวเมืองเพียงแค่ 6 กิโลเมตร เป็นสถานที่พักผ่อนแห่งใหม่ของเมืองหนองบัวลำภู

บนภูเป็นป่าธรรมชาติร่มรื่นกอปรด้วยป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ และพืชสมุนไพรที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ มีความหลากหลายทางชีวภาพ  อากาศเย็นสบายแวดล้อมด้วยธรรมชาติ  รถขึ้นถึง ผู้คนนิยมไปกางเต็นท์พักแรมกลางคืน

การเดินทาง ไปตามถนนหนองบัวลำภู-อุดรธานี ถึงบ้านภูพานทอง  แล้วเลี้ยวขวาไปตามป้ายประมาณ 4 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวขวาตามป้ายไปอีกประมาณ 2  กิโลเมตร ก็จะถึงภูพานน้อย

แหล่งโบราณคดีโนนดอนกลาง (บ้านกุดกวางสร้อย) : ตั้งอยู่บ้านกุดกวางสร้อย ซอยสันติสุข ตำบลบ้านถิ่น เชิงเขาภูเก้าด้านทิศตะวันออกเป็นแหล่งที่ขุดค้นพบโบราณวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์ คือ ภาชนะเครื่องปั้นดินเผาคล้ายกับวัฒนธรรมบ้านเชียง โครงกระดูกมนุษย์  กำไลสำริด กำไลหิน ลูกปัดแก้ว แม่พิมพ์ทำจากหินทรายสำหรับใช้หล่อหัวขวานสำริด เครื่องมือเหล็ก

ปัจจุบันโบราณวัตถุต่าง ๆ บางส่วนได้นำไปเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ขอนแก่น ในบริเวณหมู่บ้านเองยังได้สร้างอาคารพิพิธภัณฑ์เพื่อจัดแสดงวัตถุโบราณบางส่วนอีกด้วย

การเดินทาง ใช้ทางหลวงหมายเลข 2146 (หนองบัวลำภู-โนนสัง) ระยะทางประมาณ 36 กิโลเมตร ถึงบ้านหนองแวงเลี้ยวขวาเข้าไป ๕ กิโลเมตร

ถ้ำเอราวัณ : ตั้งอยู่บ้านผาอินแปลง ตำบลวังทอง บริเวณภูเขาหินแข็งที่ชาวบ้านเรียกว่า ภูเขาผาถ้ำช้าง เป็นรอยต่อของอำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย กับอำเภอนาวัง จังหวัดหนองบัวลำภู ห่างจากตัวเมืองหนองบัวลำภู ประมาณ 47 กิโลเมตร

เป็นถ้ำขนาดใหญ่มีบันไดเรียงคดโค้งไปมา จากเชิงเขาเบื้องล่างขึ้นสู่ปากถ้ำกว่า 600 ขั้น มีพระพุทธรูปขนาดใหญ่ อยู่บริเวณปากถ้ำ มองเห็นได้เด่นชัดจากระยะไกล ภายในถ้ำเป็นห้องโถงขนาดใหญ่  ที่เป็นสถานที่แห่งตำนานนิยายพื้นบ้านเรื่อง “นางผมหอม” มีหินงอกหินย้อยสวยงาม

เดินทางมาตามทางหลวงหมายเลข 210 กิโลเมตรที่ 13  (หนองบัวลำภู-เลย)  มีทางเลี้ยวขวาเข้าไป 2.7  กิโลเมตร

วัดสันติธรรมบรรพต  หรือ วัดป่าภูน้อย  : เป็นที่ประดิษฐานรอยพระบาทและมีกลุ่มใบเสมาหินโบราณซึ่งมีทั้งหมด 8  กลุ่ม วางไว้ 8  ทิศ แต่ละกลุ่มมีเสมาหินจำนวน 4  ใบ บางใบมีการแกะสลักเป็นรูปพระโพธิสัตว์และรูปคล้ายยอดเจดีย์ สันนิษฐานว่ากลุ่มเสมาหินเหล่านี้ฝังอยู่รายรอบเทวสถานของขอมเหมือนกับเสมาหินวัดศรีคูณเมือง เป็นสถานที่เหมาะแก่การปฏิบัติธรรม

การเดินทาง ตามทางหลวงหมายเลข 210 (หนองบัวลำภู-เลย) ถึงเทศบาลอำเภอนากลางเลี้ยวซ้ายไป 1.5  กิโลเมตร  ห่างจากตัวเมือง 30  กิโลเมตร

สิมไม้วัดเจริญทรงธรรม : ตั้งอยู่บ้านดอนปอ ตำบลหนองบัวใต้ เป็นสิมที่สร้างด้วยไม้ทั้งหลัง รูปร่างกะทัดรัด ขนาดกว้างและยาวไล่เลี่ยกัน หลังคาสูงโปร่งทำให้บรรยากาศภายในเย็นสบาย มีลวดลายแกะสลักไม้สวยงามทั้งบนหลังคาและหน้าจั่วที่แกะสลักเป็นรูปพญาครุฑ มีรายละเอียดงดงาม

การเดินทาง  ตามเส้นทางหนองบัวลำภู-สร้างเสี่ยน ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 30  กิโลเมตร

ผาสามยอด : ตั้งอยู่บริเวณชายแดนรอยต่อจังหวัดหนองบัวลำภูและจังหวัดเลย เขตหมู่บ้านผาสุก ตำบลหนองกุง เป็นเทือกเขาสามลูกเรียงกันมีสันเขาเชื่อมต่อกัน  ซึ่งยังไม่เคยมีการสำรวจอย่างเป็นทางการ แต่บริเวณรอบๆภูเขาจะเป็นไร่นาของชาวบ้าน

ส่วนบนภูนั้นยังคงความบริสุทธิ์ของธรรมชาติและสัตว์ป่าอยู่มาก  มีถ้ำเล็กถ้ำน้อยกว่า 100  ถ้ำ   ภายในถ้ำมีหินงอกหินย้อยตระการตา  ทั้งยังมีการค้นพบโครงกระดูกมนุษย์โบราณและข้าวของเครื่องใช้จำนวนมาก

แหล่งโบราณคดีภูผายา : ตั้งอยู่ทางเหนือของบ้านนาเจริญ ตำบลดงมะไฟ เป็นภูเขาหินปูนที่แยกตัวออกมาจากเทือกเขาภูพานมีภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์อยู่ตามผนังถ้ำเป็นจำนวนหลายส่วน

ส่วนแรกบริเวณ “ถ้ำล่าง” พบกลุ่มภาพเขียนสีแดงบนผนังถ้ำผิวเรียบ ยาวประมาณ  5 เมตร ประกอบด้วยลวดลายเรขาคณิต ภาพสัตว์  ภาพฝ่ามือ ส่วนที่สองคือ “ถ้ำบน” พบภาพเขียนสีแดงกระจายอยู่เป็นกลุ่ม ๆ ที่เห็นชัดเจนเป็นภาพสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ภาพคน ภาพสัตว์เลื้อยคลาน ภาพโครงร่างสัตว์ขนาดใหญ่

นอกจากนั้นบริเวณถ้ำผายา ยังมีสำนักสงฆ์อันเป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้านตั้งอยู่ด้วย สันนิษฐานว่าภาพเขียนถ้ำภูผายามีอายุระหว่าง 2,000-3,000ปี ใกล้เคียงกับอายุของภาพเขียนที่ค้นพบที่อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จังหวัดอุดรธานี

ลักษณะภาพเขียนคล้ายคลึงกับภาพที่พบที่ผาลาย มณฑลกวางสี ประเทศจีน เดินทางจากตัวเมืองใช้ทางหลวงหมายเลข 210 (หนองบัวลำภู-วังสะพุง) จากนั้นเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 2097 ถึงอำเภอสุวรรณคูหา แล้วใช้เส้นทางอำเภอสุวรรณคูหา-บ้านนาเจริญ