ข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวจังหวัดอุดรธานี

อุดรธานี เป็นศูนย์กลางการคมนาคมและการท่องเที่ยวทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย

โดยเฉพาะภาพของการเป็นดินแดนแห่งวัดป่า ประตูสู่ประเทศลาว ดินแดนอินโดจีนและดินแดนที่มีอารยะธรรมเก่าแก่แห่งหนึ่งของโลก

นอกจากนี้ยังมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและมีหัตถกรรมผ้าขิตที่มีชื่อเสียงอีกด้วย

เดิมพื้นที่นี้เคยเป็นถิ่นที่อยู่ของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ประมาณ 5,000-7,000 ปี โดยมีหลักฐานจากการค้นพบที่บ้านเชียงอำเภอหนองหานและภาพเขียนสีบนผนังถำที่อำเภอ บ้านผือ จังหวัดอุดรธานีมีอารยธรรมความเจริญในระดับสูง โดยเฉพาะลวดลายของเครื่องปั้นดินเผา สีลายเส้นที่บ้านเชียงนั้นสันนิฐานว่า แสดงถึงอายุของอารยธรรมที่อาจจะเก่าที่สุดของโลก

หลังจากยุคบ้านเชียงแล้ว ที่นี่ก็ยังคงเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ต่อมา กระทั่งล่วงเข้าสมัยทวาราวดี (พ.ศ.1200-1600) สมัยลพบุลี (พ.ศ.1200-1800) และสมัยสุโขทัย (พ.ศ.1800-2000)

จากหลักฐานที่พบคือใบเสมาสมัยทวาราวดีลพบุรี และภาพเขียนปูนบนผนังโบสถ์ที่ปรักหักพังบริเวณเทือกเขาภูพานใกล้วัดพระ พุทธบาทบัวบกอำเภอบ้านผือ แต่ก็ยังไม่ปรากฎชื่ออุดรธานีในประวัติศาสตร์แต่อย่างใด

จังหวัดอุดรธานีเริ่มมีปรากฎใน ประวัติศาสตร์ เมื่อราวปี พ.ศ.2117 พระเจ้ากรุงหงสาวดีได้ทรงเกณฑ์ทัพไทยให้ไปช่วยตีกรุงศรีสัตนาคนหุต (เวียงจันทน์) โดยให้สมเด็จพระมหาธรรมราชากับสมเด็จพระนเรศวรมหาราชยกทัพไปช่วยรบ แต่เมื่อกองทัพไทยมาถึงเมืองหนองบัวลำภู ซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านของเมือง เวียงจันทน์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชประชวรด้วยไข้ทรพิษจึงยกทัพกลับ และเมืองหนองบัวลำภูนี้เองสันนิษฐานว่าเคยเป็นเมืองที่มีความเจริญมาตั้งแต่สมัยขอมเรืองอำนาจ

ในปี พ.ศ. 2428 เมืองอุดรธานีปรากฎอยู่ในชื่อบ้านหมากแข้ง หรือบ้านเดื่อหมากแข้ง อยู่ในสังกัดเมืองหนองคาย ขึ้นอยู่กับการปกครองกับมณฑลลาวพวน โดยสมัยนั้น พวกฮ่อได้รวมตัวก่อการร้าย กำเริบเสิบสานขึ้นอีกในมณฑลลาวพวนฝั่วซ้ายแมน้ำโขงและมีท่าทีจะรุนแรง

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคมเป็นแม่ทัพใหญ่ฝ่ายใต้และเจ้าหมื่นไวยวรนาถเป็นแม่ทัพใหญ่ฝ่ายเหนือ ไปทำการปราบปรามพวกฮ่อ ภายหลังการปราบปรามฮ่อสงบแล้วไทยมีกรณีพิพาทกับฝรั่งเศส เนื่องจากฝรั่งเศสต้องการลาว เขมร ญวณ เป็นอาณานิคม เรียกว่า “กรณีพิพาท ร.ศ. 112 (พ.ศ. 2436)”

ด้วยพระปรีชาญาณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงยอมเสียสละส่วนน้อยเพื่อรักษาประเทศไว้จึงทรงสละดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้แก่ฝรั่งเศสและตามสนธิสัญญาที่ทำขึ้นระหว่าง 2 ประเทศ มีเงื่อนไขห้ามประเทศสยามตั้งกองทหารและป้อมปราการอยู่ในรัศมี 25 กิโลเมตรของฝั่งแม่น้ำโขงหน่วยทหารไทยที่ตั้งประอยู่ที่เมืองหนองคายอันเป็นเมืองศูนย์กลางของหัวเมือง หรือมณฑลลาวพวน ซึ่งมีกรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคมเป็นข้าหลวงใหญ่สำเร็จราชการ จำต้องอพยพเคลื่อนย้ายลึกเข้ามาจนถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่งชื่อบ้านเดื่อหมาก แข้ง (ซึ่งเป็นที่ตั้งจังหวัดอะดรธานีปัจจุบัน)

เมื่อทรงพิจารณาเห็นว่าหมู่บ้านแห่งนี้มีชัยภูมิเหมาะสม เพราะมีแหล่งน้ำดี กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม ทรงบัญชาให้ตั้งศูนย์มณฑลลาวพวน และตั้งกองทหารขึ้น ณ หมู่บ้านเดื่อหมากแข้ง ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีกระแสพระบรมราชโองการให้จัดตั้งเมืองอุดรธานีขึ้นที่บ้านหมากแข้งอยู่ ในการปกครองของมณฑลอุดร หลังการเปลื่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นระบอบ ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2475

แล้วได้มีการปรับปรุงระเบียบการบริหารราชการแผ่นดิน ยกเลิกการปกครองในระบบมณฑลในส่วนภูมิภาคยังคงเหลือเฉพาะจังหวัดและอำเภอเท่า นั้นมณฑลอุดรจึงถูกยุบเลิกไปเหลือเพียงจังหวัด “อุดรธานี” เท่านั้น

ข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวจังหวัดอุดรธานี

อนุสาวรีย์พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม : ตั้งอยู่กลางเมืองอุดรธานี พลตรีพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเจ้าจอมมารดาสังวาลย์ ทรงดำรงตำแหน่งข้าหลวงต่างพระองค์ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สำเร็จราชการมณฑลฝ่ายเหนือ ระหว่าง ร.ศ. 112-118 ทรงเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งเมืองอุดรขึ้น เมื่อ ร.ศ. 112 (พ.ศ. 2436) ทรงจัดวางระเบียบการปกครองบ้านเมือง และรับราชการในหน้าที่สำคัญ ๆ ที่อำนวยประโยชน์แก่ราษฎร ชาวจังหวัดอุดรธานีมีพิธีบวงสรวงในวันที่ 18 มกราคม ของทุกปี

สวนสาธารณะหนองประจักษ์ศิลปาคม : อยู่ในเขตเทศบาลเมืองอุดรธานี เป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ มีมาตั้งแต่ก่อนตั้งเมืองอุดรธานี เดิมเรียกว่า “หนองนาเกลือ” อยู่ทางทิศตะวันตกของตัวเมือง ต่อมาเปลี่ยนเป็น “หนองประจักษ์” เพื่อเป็นเกียรติประวัติแก่พลตรีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ในปี พ.ศ. 2530 เทศบาลฯ ได้ทำการปรับปรุงหนองประจักษ์ขึ้นใหม่ เพื่อถวายเป็นราชสักการะแก่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เนื่องในวโรกาสทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ โดยจัดทำสวนหย่อมบริเวณเกาะกลางน้ำ ทำสะพานเชื่อมระหว่างเกาะมีน้ำพุ หอนาฬิกา และสวนเด็กเล่น เป็นที่พักผ่อนและออกกำลังกายของประชาชน

วัดโพธิสมภรณ์ : ตั้งอยู่ริมถนนโพธิ์ศรี ตำบลหมากแข้ง สร้างในสมัยรัตนโกสินทร์ ปลายรัชกาลที่ 5 โดยมหาอำมาตย์ตรีพระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร (โพธิ เนติโพธิ) สมุหเทศาภิบาลมณฑลอุดร ได้ชักชวนราษฎรมาร่วมกันสร้าง ชาวบ้านนิยมเรียกว่า “วัดใหม่”

ภายหลังเจ้าวรวงศ์เธอกรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ได้ทรงประทานนามว่า วัดโพธิสมภรณ์ เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่พระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร ภายในวัดยังมีพิพิธภัณฑ์บูรพาจารย์ฝ่ายกัมมัฏฐานด้วย

พิพิธภัณฑ์เมืองอุดรธานี : อยู่ริมถนนโพธิ์ศรี ตั้งอยู่ในอาคารราชินูทิศ พิพิธภัณฑ์เมืองอุดรธานีจัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับความเป็นมาของเมือง ตั้งแต่ประวัติศาสตร์ โบราณคดี ธรรมชาติวิทยา ธรณีวิทยา ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและศิลปวัฒนธรรม รวมถึงพระประวัติและพระเกียรติคุณของกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม เปิดให้เข้าชมทุกวันเวลา 08.30 – 16.30 น. เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 04224 5967

วัดมัชฌิมาวาส : อยู่ที่ตำบลหมากแข้ง ชาวบ้านนิยมเรียกว่า วัดเดิม หรือวัดเก่า เนื่องจากในสมัยรัชกาลที่ 5 กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดขึ้นที่วัดร้างโนนหมากแข้ง และให้ชื่อว่า “วัดมัชฌิมาวาส” ในวิหารมีพระพุทธรูปหินสีขาวปางนาคปรกประดิษฐานอยู่ ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า “หลวงพ่อนาค” เป็นที่เคารพของชาวอุดรธานี

ศาลเจ้าปู่-ย่า : อยู่หลังสถานีรถไฟใกล้ตลาดหนองบัว ถนนนิตโย เป็นศาลเจ้าจีนใหญ่โต และสวยงาม มีสวนหย่อมริมหนองบัว บริเวณโดยรอบมีศาลาชมวิวกลางน้ำ 2 หลัง บรรยากาศร่มรื่น ในศาลเจ้าปู่-ย่าแห่งนี้เป็นที่เก็บรักษามังกรทองยาวถึง 99 เมตร ซึ่งใช้แสดงในงานทุ่งศรีเมืองในช่วงเดือนธันวาคมของทุกปี

สวนกล้วยไม้หอมอุดรซันไฌน์ : เป็นสวนกล้วยไม้ที่เพาะพันธุ์กล้วยไม้กลิ่นหอมพันธุ์ใหม่ของไทยระหว่างแวนด้า (Vanda) และโจเซฟฟินแวนเบอร์โร (Josephine Van Berrow) ได้รับการจดทะเบียนลิขสิทธิ์ที่สมาคมกล้วยไม้โลก ประเทศอังกฤษ เมื่อปี 2531 ชื่อพันธุ์ Udorn Sunshine Orchid หรือพันธุ์นางสาวอุดรซันไฌน์ มีการนำกลิ่นของกล้วยไม้นี้มาสกัดเป็นน้ำหอมในชื่อเดียวกัน

สวนตั้งอยู่เลขที่ 127 หมู่ 5 ซอยกมลวัฒนา เปิดให้เข้าชมเวลา 07.00 – 18.00 น. ค่าเข้าชมคนละ 20 บาท

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 4212 6405

เดินทางจากตัวเมืองใช้ทางหมายเลข 2 (อุดรธานี-หนองคาย) ระยะทาง 5 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 2024 จะเห็นป้ายบอกทางเข้าสวนกล้วยไม้อยู่ด้านซ้ายมือ

วัดป่าบ้านตาด : อยู่ที่ตำบลบ้านตาด วัดมีพื้นที่ประมาณ 163 ไร่ มีลักษณะเป็นพื้นที่ป่าร่มครึ้ม ในบริเวณวัดมีสัตว์ป่าอาศัยอยู่ชุกชุม ทั้งไก่ฟ้า ไก่ป่า นก กระรอก กระแต หมูป่า วัดป่าบ้านตาดเคยเป็นที่พำนักของพระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน พระอาจารย์วิปัสสนาสายพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เดินทางจากตัวเมืองไปตามทางหลวงหมายเลข 2 (อุดรธานี-ขอนแก่น) ถึงบริเวณสี่แยกบ้านคงเค็ง เลี้ยวขวาเข้าไปประมาณ 9 กิโลเมตร อยู่เลยจากชุมชนบ้านตาดไปไม่ไกล

วัดทิพยรัฐนิมิตร : ตั้งอยู่ถนนนเรศวร ตำบลหมากแข้ง ในซอยศาลเจ้าแม่ทับทิม ตรงข้ามกับโรงเรียนโปลีเทคนิค เป็นวัดป่าที่ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมือง ภายในวัดร่มรื่น มีเจดีย์องค์ใหญ่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เจดีย์นี้มีสัณฐานคล้ายทะนานที่ใช้ตวงพระบรมสารีริกธาตุแต่ครั้งพุทธกาล และมีรูปเหมือนหลวงปู่ถิร จิตธมโม เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน พร้อมเครื่องอัฐบริขารอยู่ในศาลา

ทุกปี ในวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 12 ตรงกับวันเกิดหลวงปู่จะมีการทอดกฐิน และการทำบุญฉลองอายุหลวงปู่

อ่างเก็บน้ำห้วยหลวง : เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่เพื่อการเกษตร การประมง และการผลิตเป็นน้ำประปา อยู่ในความรับผิดชอบของกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พื้นที่อ่างเก็บน้ำประมาณ 20,000 ไร่ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีภูมิประเทศที่สวยงาม

และภายในอ่างเก็บน้ำมีพระตำหนักที่ประทับของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ซึ่งพระองเคยเสด็จประทับเกือบทุกปี ผู้สนใจต้องติดต่อเจ้าหน้าที่ก่อนเข้าชม เดินทางตามทางหลวงสายอุดรธานี-หนองบัวลำภู ถึงกิโลเมตรที่ 108 เลี้ยวเข้าไปประมาณ 9 กิโลเมตร

อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท : ตั้งอยู่เชิงเขาภูพาน ครอบคลุมพื้นที่ 3,430ไร่ ในเขตบ้านติ้ว ตำบลเมืองพาน เป็นอุทยานที่แสดงถึงอารยะธรรมของมนุษย์ และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิประเทศ โครงสร้างส่วนใหญ่เป็นหินทรายที่ถูกขัดเกลาจากขบวนการกัดกร่อนทางธรรมชาติ ทำให้เกิดเป็นโขดหินน้อยใหญ่ มีรูปทรงต่าง ๆ กัน บริเวณอุทยานฯมีสิ่งที่น่าสนใจอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น

พระพุทธบาทบัวบก : อยู่บริเวณทางแยกซ้ายมือก่อนถึงที่ทำการอุทยานฯ สร้างขึ้นระหว่าง พ.ศ. 2463-2477 คำว่า “บัวบก” เป็นชื่อของพันธุ์ไม้ชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นตามป่า มีหัว และใบคล้ายใบบัว ชาวบ้านเรียกว่า “ผักหนอก” บัวบกนี้จะมีอยู่มากในบริเวณที่พบรอยพระพุทธบาท จึงเรียกรอยพระพุทธบาทนี้ว่า “พระพุทธบาทบัวบก” หรือคำว่าบัวบกอาจจะมาจากคำว่า บ่บก ซึ่งหมายถึง ไม่แห้งแล้ง

รอยพระพุทธบาทมีลักษณะเป็นแอ่งลึกประมาณ 60 เซนติเมตร ลงไปในพื้นหินยาว 1.93 เมตร กว้าง 90 เซนติเมตร เดิมมีการก่อมณฑปครอบไว้

ต่อมาประมาณปี พ.ศ. 2465 พระอาจารย์ศรีทัตย์ สุวรรณมาโจ ได้รื้อออกแล้วสร้างพระธาตุเจดีย์ขึ้นใหม่ และยังสร้างรอยพระพุทธบาทจำลองวางทับรอยพระพุทธบาทเดิมไว้ ภายในพระธาตุเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ องค์เจดีย์เป็นทรงบัวเหลี่ยมคล้ายองค์พระธาตุพนม มีงานนมัสการพระพุทธบาทบัวบกในวันขึ้น 13-15 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี

พระพุทธบาทหลังเต่า : อยู่ทางทิศใต้ของพระพุทธบาทบัวบก เป็นรอยพระบาทสลักลึกลงไปในพื้นหิน ประมาณ 25เซนติเมตร ใจกลางพระบาทสลักรูปดอกบัว กลีบแหลมนูนเห็นได้ชัดเจน และเนื่องจากพระพุทธบาทแห่งนี้อยู่ใกล้กับเพิงหินธรรมชาติรูปร่างคล้ายเต่า จึงได้ชื่อว่า “พระพุทธบาทหลังเต่า”

ถ้ำ และเพิงหินต่าง ๆ กระจายอยู่ทั่วไปในบริเวณอุทยานฯ ได้แก่ ถ้ำลายมือ ถ้ำโนนสาวเอ้ ถ้ำคน ถ้ำวัวแดง สันนิษฐานว่าถ้ำเหล่านี้อาจจะเป็นที่พำนักของมนุษย์สมัยหิน เพราะมีรูปเขียนต่าง ๆ ไว้ เช่น รูปคน รูปมือ รูปสัตว์ และรูปลายเรขาคณิต

นอกจากนั้นยังมีลานหินที่สวยงาม คือ ลานหินโนนสาวเอ้ เพิงหินธรรมชาติ และยังพบชิ้นส่วนหลักเสมา และหินทรายจำหลัก พระพุทธรูปศิลปะสมัยทวาราวดี ที่เพิงหินวัดพ่อตา และเพิงหินวัดลูกเขย ภายในอุทยานฯ มีศูนย์บริการนักท่องเที่ยวให้บริการ

สอบถามรายละเอียด โทร. 0 4225 0616, 0 4225 1350 เปิดให้เข้าชมเวลา 08.00-18.00 น.

อัตราค่าเข้าชม นักท่องเที่ยวชาวไทย 20 บาท ชาวต่างชาติ 100 บาท

การเดินทางจะอยู่ห่างจากตัวจังหวัด 67 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 2 (อุดรธานี-หนองคาย) กิโลเมตรที่ 13 เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 2021 ไปทางอำเภอบ้านผือ ระยะทาง 42 กิโลเมตร เลี้ยวขวาประมาณ 500 เมตร และตรงไปตามทางหลวงหมายเลข 2348 อีก 12 กิโลเมตร เลี้ยวขวาเข้าไปประมาณ 2 กิโลเมตร

พระพุทธบาทบัวบาน : ตั้งอยู่บนเนินเขาในเขตตำบลเมืองพาน เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธบาทจำลองเก่าแก่อยู่ในโบสถ์ และมีการขุดค้นพบใบเสมาที่ทำด้วยหินทรายเป็นจำนวนมาก ใบเสมาเหล่านี้สลักเป็นรูปเทวดา และนางอัปสร เป็นศิลปะทวาราวดีผสมศิลปะลพบุรี

วัดป่าบ้านค้อ : อยู่ตำบลเขือน้ำ เป็นที่ประดิษฐานพระมหาธาตุเจดีย์ เฉลิมบารมีพระนวมินทร์ ซึ่งบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ภายในพระมหาธาตุเจดีย์มีเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธศาสนา แกะสลักเป็นพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ชาดก และพุทธประวัติ

วัดนี้เหมาะสำหรับผู้รักการปฏิบัติธรรม ทางจังหวัดให้วัดป่าบ้านค้อเป็นศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติประจำจังหวัด ซึ่งจะมีชาวไทยและชาวต่างชาติมาปฏิบัติธรรมกันอยู่เสมอ

การเดินทางใช้ทางหลวงหมายเลข 2 (อุดรธานี-หนองคาย) ถึงกิโลเมตรที่ 13 เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 2021 (อุดรธานี-บ้านผือ) 20 กิโลเมตร เลี้ยวขวาเข้าวัดป่าบ้านค้อ 3 กิโลเมตร

อุทยานแห่งชาตินายูง-น้ำโสม : ตั้งอยู่ที่บ้านสว่าง หมู่ 2 ตำบลนายูง ในเขตอุทยานฯมีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ ได้แก่ น้ำตกยูงทอง เป็นน้ำตกตั้งอยู่บนสันเขาภูพาน และภูย่าอู ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ 500 เมตร มีลำน้ำไหลผ่านโขดหินสลับซับซ้อน น้ำตกยูงทองเป็นน้ำตกขนาดเล็ก มี 3 ชั้น มีแอ่งน้ำสามารถลงเล่นได้ ในอดีตเคยเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและหากินของนกยูง อันเป็นที่มาของชื่อยูงทอง

จุดชมวิวผาแดง ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ 1,500 เมตร อยู่บนเส้นทางศึกษาธรรมชาติน้ำตกยูงทอง ผาแดงเป็นหน้าผาหินทรายสูงชัน มองเห็นทิวทัศน์สวยงามเบื้องล่างได้กว้างไกล ใกล้กับผาแดงมีหลืบถ้ำเล็ก ๆ เคยเป็นที่วิปัสสนากรรมฐานของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

ทางเดินศึกษาธรรมชาติน้ำตกยูงทอง เป็นทางเดินเท้าเพื่อศึกษาธรรมชาติที่อุทยานฯ จัดทำขึ้น ตลอดเส้นทางมีการจัดสื่อบรรยายลักษณะทางธรรมชาติเป็นระยะ ผ่านน้ำตกยูงทอง น้ำตกตาดน้อย จุดชมวิวผาแดง ระยะทางประมาณ 2,000 เมตร

เดินทางจากจังหวัดอุดรธานีไปตามทางหลวงสายอุดรธานี-หนองคาย 15 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายผ่านอำเภอบ้านผือ ไปทางอำเภอน้ำโสม เลี้ยวขวาที่บ้านสามเหลี่ยมไปทางอำเภอนายูงประมาณ 15 กิโลเมตร ถึงบ้านสว่างเลี้ยวขวาไป 2 กิโลเมตร จะถึงที่ทำการอุทยานฯ

วัดป่าภูก้อน : อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่านายูงและป่าน้ำโสม ท้องที่บ้านนาคำใหญ่ ตำบลบ้านก้อง เป็นรอยต่อแผ่นดิน 3 จังหวัด คือ อุดรธานี เลย และหนองคาย เกิดขึ้นจากพุทธบริษัทที่ตระหนักถึงคุณประโยชน์ของธรรมชาติและป่าต้นน้ำลำธาร ซึ่งกำลังถูกทำลาย และเพื่อตามรอยพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการรักษาความสมบูรณ์ของป่าไม้ต้นน้ำลำธาร สัตว์ป่า และพรรณไม้นานาพันธุ์ ให้เป็นมรดกของลูกหลานไทยคู่กับแผ่นดินไทย

วัดป่าภูก้อนจะเป็นสถานที่ที่สงบ เหมาะแก่การบำเพ็ญภาวนาของพระสายกรรมฐาน ภายในวัดมีพระบรมสารีริกธาตุบรรจุในพระเกศพระร่วงโรจน์ศรีบูรพา ซึ่งเป็นประธานประดิษฐานหน้าองค์พระปฐมรัตนบูรพาจารย์มหาเจดีย์ มีพระพุทธไสยาสน์โลกนาถศาสดามหามุนี เป็นพระพุทธรูปปางปรินิพพาน ทำด้วยหินอ่อนขาวจากเมืองคาร์ราร่า ประเทศอิตาลี ความยาว 20 เมตร มีลักษณะอ่อนช้อยงดงาม

วัดอยู่ห่างจากตัวจังหวัด 124 กิโลเมตร จากจังหวัดอุดรธานีไปตามทางหลวงหมายเลข 2 (อุดรธานี-หนองคาย) ถึงกิโลเมตรที่ 13 เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 2021 (อุดรธานี-บ้านผือ) ไปยังบ้านนาคำใหญ่ อำเภอนายูง

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง : อยู่ที่บ้านเชียง ตำบลบ้านเชียง เป็นแหล่งประวัติศาสตร์สำคัญทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย และภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ กรมศิลปากรได้เข้ามาทำการสำรวจขุดค้น ระหว่างปี พ.ศ. 2517–2518 ทำให้ทราบว่าบ้านเชียงเป็นแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่มีอายุราว 5,600-1,800 ปี องค์การยูเนสโก (UNESCO) ได้จดทะเบียนให้แหล่งโบราณคดีบ้านเชียงเป็นมรดกโลกทางประวัติศาสตร์ เมื่อเดือนธันวาคม 2535 ภายในพิพิธภัณฑ์ จัดแสดงโดยแบ่งเป็นส่วนต่างๆ คือ

ส่วนที่ 1 อาคารสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี แบ่งออกเป็น 3 อาคาร

อาคารที่ 1 จัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียน และประเพณีวัฒนธรรมของคนบ้านเชียง

อาคารที่ 2 เป็นห้องเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ครั้งเมื่อเสด็จมาที่บ้านเชียง

อาคารที่ 3 เป็นห้องนิทรรศการเกี่ยวกับสำรวจและขุดค้นทางโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ได้แก่ การเตรียมการสำรวจ เทคนิคการขุดค้น การศึกษาวิเคราะห์วิจัย การเสนอรายงานและการสรุปข้อมูลต่าง ๆ วิถีชีวิตก่อนประวัติศาสตร์ เครื่องปั้นดินเผา และหลุมจำลองวัดโพธิ์ศรีใน

ส่วนที่ 2 หลุมขุดค้นวัดโพธิ์ศรีใน เป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งแห่งแรกในประเทศไทย มีนิทรรศการถาวร แสดงขั้นตอนการขุดค้นที่ยังคงลักษณะของศิลปวัตถุที่พบตามชั้นดิน เพื่อให้ผู้เข้าชมได้ศึกษาถึงการขุดค้นทางโบราณคดี และโบราณวัตถุ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาชนะดินเผาที่ฝังรวมกับศพ

ส่วนที่ 3 บ้านไทพวน อยู่ห่างจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง 700 เมตร เดิมเป็นบ้านของนายพจน์ มนตรีพิทักษ์ และทำการมอบให้กรมศิลปากร เนื่องจากพื้นที่แห่งนี้เป็นแหล่งโบราณสถาน การขุดค้นพบโบราณวัตถุเป็นจำนวนมาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ได้เสด็จมาเยือนเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2515

พิพิธภัณฑ์อยู่ห่างจากอำเภอเมืองประมาณ 55 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 22 (อุดรธานี-สกลนคร) เลยสี่แยกเข้าอำเภอบ้านดุงเล็กน้อย จะเห็นป้ายบอกทางไปพิพิธภัณฑ์ทางด้านซ้ายมือ ตรงไปประมาณ 8.2 กิโลเมตร จะถึงพิพิธภัณฑ์ฯ

เปิดให้เข้าชมทุกวันอังคาร- วันอาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เวลา 08.00-16.30 น. อัตราค่าเข้าชม ชาวไทย 30 บาท ชาวต่างชาติ 150 บาท สอบถามข้อมูลเพิ่มได้ที่ โทร. 042 208340

คำชะโนด : เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านบริเวณใกล้เคียงให้ความเคารพนับถือ ตั้งอยู่ที่วัดศิริสุทโธ ตำบลวังทอง

มีผู้กล่าวว่า สถานที่แห่งนี้เป็นปากเมืองบาดาล ที่มีตำนานเกี่ยวกับพระยานาคตามความเชื่อของชาวอีสานและชาวลาว ปัจจุบันบริเวณดังกล่าวมีต้นชะโนดขึ้นปกคลุมหนาแน่น ต้นชะโนดมีลักษณะคล้ายกับต้นตาล และต้นมะพร้าวรวมกัน ภายในมีศาลเจ้าปู่ศรีสุทโธ และบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์

คำชะโนดอยู่ห่างจากอำเภอเมืองประมาณ 101 กิโลเมตร โดยใช้เส้นทางอุดรธานี-สกลนคร แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าทางอำเภอบ้านดุง 84 กิโลเมตร ห่างจากอำเภอบ้านดุง 17 กิโลเมตร

พระธาตุดอนแก้ว : หรือเรียกว่า พระมหาธาตุเจดีย์ ตั้งอยู่หมู่ 5 บ้านดอนแก้ว ประดิษฐานอยู่กลางวัดมหาธาตุเจดีย์ เป็นเจดีย์ทรงเหลี่ยมคล้ายพระธาตุพนม สูงประมาณ 18 วาเศษ องค์พระธาตุมี 2 ชั้น แต่ละชั้นมีรูปแกะสลักเกี่ยวกับพระพุทธประวัติ นรก-สวรรค์

การก่อสร้างพระธาตุเป็นหินทรายรูปทรงสี่เหลี่ยม ยาวประมาณ 1 ศอก รอบนอกฉาบด้วยปูน สันนิษฐานว่าวัดพระธาตุดอนแก้ว ใบเสมา และเสาหินสร้างขึ้นในราวศตวรรษที่ 12-13

พระธาตุฯอยู่ห่างจากอำเภอเมือง เดินทางโดยใช้ทางหลวงหมายเลข 2 และทางหลวงหมายเลข 2350 ถึงอำเภอกุมภวาปี เลี้ยวซ้ายบริเวณสวนธรรมชาติเข้าไป 3.4 กิโลเมตร (ห่างจากอำเภอเมือง 50 กิโลเมตร)

วนอุทยานน้ำตกธารงาม : ตั้งอยู่ตำบลหนองแสง ในเขตพื้นที่ป่าขุนห้วยสามทาก ขุนห้วยกองสี มีพื้นที่ 78,125 ไร่ ได้รับการประกาศเป็นวนอุทยานเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2527 สภาพป่าบริเวณน้ำตก เป็นป่าเบญจพรรณ มีพันธุ์ไม้สำคัญ ๆ เช่น ตะแบก ประดู่ แดง มะค่าโมง ชิงชัง และกระบก น้ำตกจะมีน้ำเพียงบางฤดูเท่านั้น มีน้ำมากในช่วงฤดูฝน

จุดเด่นที่น่าสนใจภายในวนอุทยานฯ มีหน้าผา ถ้ำที่สวยงาม และมีลานหิน หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “แหล” เป็นแหลขนาดใหญ่ เนื้อที่กว้างขวาง มีก้อนหินใหญ่วางเรียงราย และซ้อนกันอยู่ จากจุดนี้สามารถมองเห็นทิวทัศน์ที่อยู่เบื้องล่างได้ วนอุทยานน้ำตกธารงามไม่มีบ้านพักบริการ

หากนักท่องเที่ยวมีความประสงค์จะเดินทางไปพักแรมต้องนำเต็นท์ไปเอง ติดต่อสอบถาม โทร.0 4222 1725 เปิดบริการตั้งแต่เวลา 08.00-16.00 น. www.dnp.go.th วนอุทยานน้ำตกธารงามอยู่ห่างจากอำเภอหนองแสง 6 กิโลเมตร สามารถเดินทางได้ 3 เส้นทาง คือ

เส้นทางแรก จากอุดรธานี-บ้านเหล่า-โคกลาด-อำเภอหนองแสง ระยะทางประมาณ 35 กิโลเมตร

เส้นทางที่สอง จากอุดรธานีไปบ้านคำกลิ้ง-บ้านตาด-อำเภอหนองแสง ระยะทางประมาณ 30 กิโลเมตร

เส้นที่สาม จากอุดรธานี-ห้วยเกิ้ง อำเภอหนองแสง ระยะทางประมาณ 60 กิโลเมตร

ภูฝอยลม : อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าพันดอน-ปะโค มีเนื้อที่ 192,350 ไร่ บนเทือกเขาภูพานน้อย เขตตำบลทับกุง ที่นี่ได้รับการจัดให้เป็นศูนย์ศึกษาธรรมชาติที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในภาคอีสาน มีแปลงปลูกสาธิต และสวนรวมพรรณไม้ป่า 60 พรรษามหาราชินี มีจุดชมวิวสามารถมองเห็นทิวทัศน์ตัวเมืองอุดรธานีได้ ภูฝอยลมมีบ้านพักไว้บริการ รวมถึงสามารถตั้งแคมป์ได้ มีกิจกรรมเดินป่า

สอบถามรายละเอียด โทร. 0 4291 0902, 0 4225 0207, 08 9710 2633 เดินทางใช้เส้นทางอุดรธานี-เลย เลี้ยวเข้าแยกบ้านเหล่ากิโลเมตรที่ 9

วนอุทยานวังสามหมอ : ตั้งอยู่ตำบลหนองกุงทับม้า ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าบะยาว-ป่าหัวนาคำ-ป่าหนองกุงทับม้า-ป่านายูง และป่าหนองหญ้าไซ ได้รับการประกาศเป็นวนอุทยานฯ เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2527 มีเนื้อที่ประมาณ 18,750 ไร่ ภูมิประเทศเป็นที่ราบ ป่าทั่วไปเป็นป่าแดง หรือป่าเต็งรัง ยาง และตะเคียนทอง มีลำห้วย เกาะ แก่ง มีน้ำไหลตลอดทั้งปี สัตว์ป่าที่พบเห็น ได้แก่ บ่าง อีเห็น ชะมด นกเปล้า เป็นต้น จุดเด่นที่น่าสนใจภายในวนอุทยานฯ ได้แก่ วังใหญ่ เป็นวังน้ำขนาดใหญ่ที่มีน้ำไหลตลอดปี มีลำห้วยลำพันชาติไหลผ่าน มีแก่งหิน โขดหิน บรรยากาศเย็นสบายเหมาะแก่การพักผ่อน สามารถลงเล่นน้ำ ล่องแก่ง พายเรือ และตกปลาได้

แก่งมนน้อย : จากวังใหญ่เดินตามทางริมห้วยลำพันชาติเลียบลำน้ำประมาณ 800 เมตร จะพบเกาะแก่ง โขดหินที่เกิดจากการกัดเซาะของน้ำ บางช่วงเกิดเป็นน้ำตกที่สวยงาม แก่งหินฮอม เดินจากแก่งวังมนน้อยไปประมาณ 100 เมตร เป็นแก่งหินขนาดใหญ่ต่างระดับ ในช่วงฤดูฝนมีน้ำไหลมากทำให้เกิดเสียงดังก้องไปไกล

วนอุทยานวังสามหมอกไม่มีบริการบ้านพัก หากต้องการพักแรมต้องนำเต็นท์ไปเอง และควรติดต่อขออนุญาตล่วงหน้าที่ หัวหน้าวนอุทยานวังสามหมอ

หรือติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โทร. 0 2562 0760

เดินทางจากอำเภอเมือง ใช้เส้นทางกุมภวาปี-ศรีธาตุ-วังสามหมอ (ทางหลวงหมายเลข 2023) เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 227 จนถึงบริเวณตำบลหนองกุงทับม้า มีทางแยกไปวนอุทยานฯ 9 กิโลเมตร วนอุทยานฯ ห่างจากที่ว่าการอำเภอวังสามหมอ 20 กิโลเมตร และห่างจากอำเภอเมือง 120 กิโลเมตร

ถ้ำสิงห์ : ตั้งอยู่บนเทือกเขาภูพาน หมู่บ้านหนองเจริญ หมู่ที่ 7 มีแหล่งท่องเที่ยวภายในถ้ำที่น่าสนใจ อย่างเช่น ซำต้นหมาก เป็นบริเวณที่มีต้นหมากขึ้นเป็นจำนวนมาก ฤดูฝนจะมีน้ำขัง ชาวบ้านจะนำสัตว์เลี้ยง เช่น โค กระบือ มาดื่มน้ำ โดยรอบมีบรรยากาศร่มรื่น ลานทับควาย มีลักษณะเป็นเพิงหิน คล้ายหลังคา เป็นลานกว้างมีพรรณไม้ป่าอยู่รอบ ๆ เหตุที่เรียกว่า “ลานทับควาย” เพราะสมัยก่อนชาวบ้านนำสัตว์เลี้ยงโค กระบือ มาเลี้ยง และใช้บริเวณนี้เป็นจุดหยุดพักทานอาหาร

ถ้ำคอกม้า : เป็นเพิงหินซ้อนกันเป็นช่องโพรงสามารถเดินผ่านทะลุได้ ที่เรียกว่า”ถ้ำคอกม้า” ถ้ำฤาษี เป็นโขดหินสูง 2.20 เมตร มีช่องทางเดินเข้า ลักษณะเป็นเพิงหินซ้อนกัน ฯลฯ

ถ้ำสิงห์อยู่ห่างจากอำเภอเมือง 45 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 2263 (อุดรธานี-กุดจับ ผ่านหมู่บ้านหนองฆ้อง หนองเจริญ และหนองเม็ก เลี้ยวซ้ายบริเวณสามแยกวัดเจริญศรัทธาสามัคคี ถึงสำนักสงฆ์ภูโหล่น เดินทางต่อไปอีก 3 กิโลเมตร จะถึงเชิงภูเขาภูพานจากนั้นเดินเท้าขึ้นไป 3 กิโลเมตร