ผ้ามัดหมี่ลายแคนแก่นคูน กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผ้าไหมมัดหมี่บ้านหัวฝาย จ. ขอนแก่น

เอกลักษณ์ความโดดเด่นของผ้า

ลวดลายบนผืนผ้ามัดหมี่ส่วนใหญ่ที่นิยมทอกันมักเป็นลวดลายของภูมิปัญญาโบราณที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยคนรุ่นปู่ย่าตายาย การจะคิดสร้างสรรค์ลายผ้าใหม่ ๆไม่ค่อยมีปรากฏมากนัก การริเริ่มสร้างลายผ้ามัดหมี่ใหม่ของ จ. ขอนแก่น ซึ่งใช้ชื่อว่า  “ลายแคนแก่นคูน” ซึ่งจะใช้สร้างอัตลักษณ์ที่ชัดเจนมากขึ้นให้กับจังหวัดในฐานะนครมัดหมี่โลก จึงเป็นภาพสะท้อนใหม่ของการสร้างสรรค์ที่ผสมผสานระหว่างภูมิปัญญาโบราณ การสร้างอัตลักษณ์ที่อาศัยกระบวนการมีส่วนร่วมจากชุมชน ที่เชื่อมโยงการยกระดับและพัฒนาเมือง ซึ่งคล้ายแนวทางการอนุรักษ์ของเมืองที่มีความเข้มแข็งทางวัฒนธรรมหลาย ๆ เมืองในโลก ที่ค้นหาและตอกย้ำตัวตนของเมืองผ่านการสร้างสรรค์ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมหลักของเมือง

สำหรับขอนแก่นก็เป็นเช่นเมืองอื่น ๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยที่การทำผ้ามัดหมี่เป็นศิลปะการทอผ้าพื้นเมืองชนิดหนึ่งที่นิยมทำกันมานาน ชาวบ้านจะใช้เวลาว่างจากการทำนาและการเก็บเกี่ยวมาทอผ้าไว้ใช้ในครัวเรือน หรือทอผ้าเอาไว้ใช้ในงานประเพณีต่าง ๆ กระทั่งในยุคหลัง ๆ มีการนำผ้าที่เหลือใช้เองมาจำหน่าย จนหลายพื้นที่การทอผ้ากลายมาเป็นรายได้หลักแทนการทำนาอาชีพแต่ดั้งเดิม อ. ชนบท จ. ขอนแก่น เป็นหนึ่งในอำเภอที่ขึ้นชื่อเรื่อง “ผ้าไหมมัดหมี่” และ “ช่างทอผ้า” ความเป็นมาเริ่มจากการทอผ้าใช้เองในครัวเรือน ก่อนจะมีการรวมกลุ่มทำขายและพัฒนาจนกลายมาเป็น “ผ้าไหมมัดหมี่” ที่โด่งดัง กระทั่งล่าสุด  ขอนแก่นได้รับการประกาศอย่างเป็นทางการจากสภาหัตถกรรมโลกให้เป็น “เมืองแห่งผ้ามัดหมี่” หรือ “นครแห่งผ้ามัดหมี่” โดยในการให้การรับรองพิจารณาจากข้อมูลเชิงประวัติความเป็นมาของการทอผ้าไหมมัดหมี่ วัตถุดิบที่ใช้ มาตรฐาน และการยอมรับใน “ผ้ามัดหมี่” ของเมือง

ในข้อมูลประวัติและความเป็นมา ขอนแก่นมีวัฒนธรรมการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมมายาวนาน ทำให้ปัจจุบันเมืองแห่งนี้เป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบอย่างเส้นไหมแหล่งใหญ่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีศักยภาพในการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ซึ่งมีกลุ่มผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเป็นลำดับ 4 ของประเทศ หรือประมาณกว่า 8,565 ราย  แบ่งเป็นเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม สาวไหม และทอผ้าไหม 5,152 ราย ผู้ประกอบการทอผ้าไหม 2,382 ราย ผู้ประกอบการทอผ้า ฟอกผ้า และย้อมสี 644 ราย ร้านค้าจำหน่ายผ้าไหมและผลิตภัณฑ์จากหม่อนไหมที่ขึ้นทะเบียนไว้ จำนวน 38 ร้าน และเป็นแหล่งผลิตผ้าไหมที่สามารถผลิตผ้าไหมในแต่ละปีได้ไม่น้อยกว่า 150,000 เมตร ว่ากันว่าการที่ผ้าทอมือของขอนแก่นเติบโตเป็นเพราะเสน่ห์ของไหมมัดหมี่ที่แตกต่างจากที่อื่น ซึ่งเกิดจากความเฉพาะตัวของวิธีการมัดหมี่ และเทคนิคการทอที่ทำให้เกิดเอกลักษณ์ “ความเป็นชิ้นเดียวในโลก” ในทางเทคนิควิธีการทอแบบดั้งเดิมยังทำให้เกิดรอยซึมของสีที่วิ่งไปบนลวดลายที่ถูกมัด ที่ถึงแม้จะใช้ความแม่นยำในการทอมากแค่ไหนก็จะเกิดความเหลื่อมบนสีของเส้นไหม ซึ่งให้ความรู้สึกของความเป็นงานทำมือสุดมหัศจรรย์

ที่ตั้งและการติดต่อ

แหล่งผลิต : กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผ้าไหมมัดหมี่บ้านหัวฝาย

ที่ตั้ง : 46 บ้านหัวฝาย ม. 2 ต. ปอแดง อ. ชนบท จ. ขอนแก่น

โทรศัพท์ : 08 3656 5644, 08 1729 6025 (คุณจุ๋ม)

ลักษณะและลวดลายการทอและการผลิต

ช่วงเวลาใกล้เคียงกับการประกาศการเป็น “เมืองแห่งผ้ามัดหมี่โลก” ปราชญ์ชาวบ้านผ้าทอมือและทางจังหวัดได้ร่วมกันพัฒนา “ลายแคนแก่นคูน” ขึ้นมาเป็นครั้งแรกในรอบ 100 ปี ของการก่อตั้งจังหวัด มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับงานทอผ้าที่มีเอกลักษณ์และตัวตนของความเป็น “ขอนแก่น” มากขึ้น โดยลายแคนแก่นคูน 7 ลาย ได้สะท้อนอัตลักษณ์ของเมืองขอนแก่น 7 ประการ ประกอบไปด้วยความหมาย คือ 1. ลายแคน หมายถึง สัญลักษณ์แทนความเจริญและสนุกสนาน เมืองแห่งหมอแคน ความสุขของชาวขอนแก่น 2. ลายดอกคูน หมายถึง สัญลักษณ์ซึ่งเป็นดอกไม้ประจำจังหวัดขอนแก่น 3. ลายพานบายศรี หมายถึง ความมีมิตรภาพ ประเพณีการผูกเสี่ยว และการยินดีต้อนรับผู้มาเยือนของประชาชนชาวขอนแก่น 4. ลายขอ หมายถึง การเป็นสัญลักษณ์แทนความอยู่ดีกินดี ความอุดมสมบูรณ์ ของประชาชนชาวขอนแก่น 5. ลายโคม หมายถึง การสืบทอดภูมิปัญญาวัฒนธรรมของชาวขอนแก่น 6. ลายกง หมายถึง อาณาเขต บริเวณที่ได้รับการอารักขาให้เกิดความมั่นคง ปลอดภัย ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ ตลอดไป และ 7. ลายบักจับหรือหมากจับ หมายถึง ความรัก ความสามัคคี ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของประชาชนชาวขอนแก่น

ผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงหรือโดดเด่น

กลุ่มสตรีสหกรณ์บ้านหัวฝาย

กลุ่มสตรีสหกรณ์บ้านหัวฝาย แม่บุญสิน ราษฎร์เจริญ เป็นผู้ก่อตั้ง กลุ่มสตรีสหกรณ์บ้านหัวฝาย ซึ่งได้สร้างเอกลักษณ์ของกลุ่ม คือ การอนุรักษ์การทอผ้าไหมมัดหมี่แบบดั้งเดิมให้ยังคงอยู่ นอกจากนั้นแล้ว ทางกลุ่มยังมีการย้อมสีเส้นไหมจากธรรมชาติ และในสถานที่ตั้งของกลุ่มยังเปิดเป็นศูนย์เรียนรู้การปลูก หม่อนเลี้ยงไหม และเผยแพร่กระบวนการผลิตผ้าไหมให้นักท่องเที่ยวได้เยี่ยมชม

ผ้าไหมแต้มหมี่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผ้าไหมมัดหมี่บ้านหัวฝาย จ. ขอนแก่น

เอกลักษณ์ความโดดเด่นของผ้า

ประวัติความเป็นมา

การพัฒนากระบวนการผลิตผ้าไหมมัดหมี่ด้วยเทคนิคการแต้มสีเป็นการแก้ปัญหาการผลิตผ้าไหมลายมัดหมี่ที่ต้องใช้ระยะเวลานานในการมัดหมี่และย้อมแต่ละสี  เกิดข้อจำกัดในการรับคำสั่งซื้อ  และการสืบทอด  การแก้ปัญหาดังกล่าวกระทำโดยการศึกษากระบวนการผลิตผ้าไหมมัดหมี่ การทดลองเพื่อลดกระบวนการผลิตผ้าไหมลายมัดหมี่ และการเผยแพร่เพื่อส่งต่อองค์ความรู้ไปสู่กระบวนการผลิตในระดับชุมชน จากการศึกษาและทดลองสามารถลดกระบวนการผลิตผ้าลายมัดหมี่ได้ด้วยการใช้การแต้มหมี่ด้วยสีรีแอคทีฟชนิดระบายบนโฮงมัดหมี่ทุกสีพร้อมกันในครั้งเดียวแทนการมัดหมี่แบบเดิมร่วมกับขั้นตอนการแช่สารกันสีตก  ซึ่งสามารถลดระยะเวลาในการผลิตผ้าไหมทอมือลายมัดหมี่ลงได้โดยยังใช้อุปกรณ์เดิม  สามารถสร้างลายมัดหมี่ได้ง่ายขึ้นเอื้อต่อการสืบทอด และกลุ่มชุมชนสามารถสร้างสรรค์ลวดลายต่อไปด้วยตนเองจากพื้นฐานเดิม  โดยลวดลายที่เหมาะสมสำหรับเทคนิคนี้เป็นลายที่มีขนาดใหญ่และมีความอิสระคล้ายการระบายสีด้วยพู่กัน

ที่ตั้งและการติดต่อ

แหล่งผลิต : กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผ้าไหมมัดหมี่บ้านหัวฝาย

ที่ตั้ง : 46 บ้านหัวฝาย ม. 2 ต. ปอแดง อ. ชนบท จ. ขอนแก่น

โทรศัพท์ : 08 3656 5644, 08 1729 6025 (คุณจุ๋ม)

ลักษณะและลวดลายการทอและการผลิต

นางสุภาณี ภูแล่นกี่ ประธานกลุ่มทอผ้าไหมมัดหมี่บ้านหัวฝาย เป็นผู้นำพากลุ่มที่มีวีถีการผลิตผ้าไหมครบวงจร ที่เรียกว่า “ผ้าไหมมัดหมี่” ซึ่ง เริ่มต้นด้วยการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมทอผ้า ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ก่อนจะมีการรวมตัวจัดตั้งกลุ่ม สมาชิกทุกคนได้รับการปลูกฝังและมีความผูกพันกับผ้าไหมมาตั้งแต่เด็ก จึงไม่น่าแปลกที่ทุกคนเจริญเติบโตมาพร้อมกับการสั่งสมภูมิปัญญาที่งดงามที่ถูกถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น เกิดการสรรสร้างงานมัดหมี่ที่สวยงาม มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเองทั้งด้านการผสมผสานกันอย่างลงตัวด้านวัตถุดิบที่สามารถหาได้ในท้องถิ่น ได้เป็นผืนผ้าที่งดงามที่สื่อถึงจินตนาการและจิตวิญญาณของผู้ทอนำไปสู่การสร้างอัตลักษณ์ของชาวอีสาน เป็นการ “สร้างงาน สร้างเงิน สร้างรายได้ สร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชนและประเทศ

ผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงหรือโดดเด่น

อีกทั้งยังมีการบูรณาการภูมิปัญญาลายมัดหมี่เดิมเป็นการต่อยอด ผลิตภัณฑ์ผ้าไหมมัดหมี่ดั้งเดิมไปสู่การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่วิจิตรสวยงาม  “ไหมแต้มหมี่” มีลวดลายใหม่ที่สร้างมิติและร่วมสมัยที่จะสามารถตอบสนองความต้องการ ของคนรุ่นใหม่และตลาดต่างประเทศทำให้สามารถแข่งขันได้ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ โดยเทคนิคการแต้มสีลงบนเส้นไหม จะได้ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่สามารถออกแบบลวดลายและสีสันได้ตามความต้องการของผู้ บริโภคและสามารถนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้ตามต้องการ ทั้งผ้าไหมมัดหมี่ที่มีลวดลายที่วิจิตร ประณีต และ ผ้าไหมแต้มหมี่ที่มีความทันสมัย นำแฟชั่น จะยังคงมีการพัฒนา ทั้งรูปแบบ ลวดลาย และสีสัน ควบคู่กันไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อการคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์และอัตลักษณ์จากภูมิปัญญาดั้งเดิม และงานแนวใหม่ เพื่อให้เป็นที่ถูกใจและยอมรับ  ยิ่งไปกว่านั้นกระบวนการย้อมเย็นยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

ผ้าไหมมัดหมี่นาโน กลุ่มหัตถกรรมคุ้มสุขโข จ. ขอนแก่น

เอกลักษณ์ความโดดเด่นของผ้า

“บ้านดอนข่า” ชุมชนต้นแบบ เคยได้รับรางวัลชนะเลิศโครงการหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบของจังหวัดขอนแก่นประจำปี 2556 โครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ “อยู่เย็น เป็นสุข” ซึ่งบ้านดอนข่ามีพื้นฐานการพัฒนาชุมชนที่ดีและค่อนข้างชัดเจน มีกิจกรรมการพัฒนาหลากหลาย เช่น กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต ธนาคารข้าว กลุ่มอาชีพการทอผ้าไหม กิจกรรมปลูกผักปลอดสารพิษ เป็นต้น

ที่นี่มีการทอผ้าไหมมัดหมี่ โดยใช้เส้นไหมออร์แกนิก ซึ่งในแต่ขั้นตอนการผลิตไม่มีการใช้สารเคมีเข้ามาเป็นส่วนประกอบตั้งแต่การปลูกหม่อนโดยใช้ปุ๋ยธรรมชาติที่ได้จากการย้อมเส้นไหมแบบย้อมเย็น ซึ่งเป็นการย้อมที่ไม่ต้องใช้เชื้อเพลิงและสีที่นำมาย้อมก็นำมาจากวัสดุธรรมชาติ

ที่ตั้งและการติดต่อ

แหล่งผลิต : กลุ่มหัตถกรรมคุ้มสุขโข

ที่ตั้ง : 86 หมู่ที่ 7 บ้านดอนข่า ตำบลชนบท อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น

โทรศัพท์ : 08 5008 2264 (คุณทวี สุขโข)

 

ลักษณะและลวดลายการทอและการผลิต

การย้อมเย็น คือการนำเอาวัตถุดิบธรรมชาติที่ให้สีมาหมักเพื่อให้สีออกมา และใช้แสงแดดเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาในการย้อมให้ติดสี ซึ่งเป็นกรรมวิธีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดการใช้พลังงาน และยังถนอมเส้นใยผ้าอีกด้วย “มัดหมี่” เป็นกรรมวิธีในการทอผ้าแบบหนึ่ง ที่อาศัยการย้อมเส้นด้ายก่อนการทอ มีทั้งที่ย้อมเฉพาะด้ายยืน(ด้ายที่ขึงตามแนวยาว) และย้อมเฉพาะด้ายพุ่ง(ด้ายอีกชุดหนึ่งที่สอดขัดกับด้ายยืนตามแนวขวาง) เพื่อให้เมื่อทอเป็นผืนแล้วเกิดเป็นลวดลายและสีสันตามที่ต้องการ เดิมการมัดหมี่นิยมใช้เส้นไหม แต่ปัจจุบันพบการมัดหมี่ทั้งเส้นไหม ฝ้าย และเส้นใยสังเคราะห์ คำว่า “มัดหมี่” มาจากกรรมวิธีการ “มัด” เส้นด้ายเป็นกลุ่ม ๆ ก่อนการย้อมสี ส่วน “หมี่” นั้นหมายถึงเส้นด้าย การมัดหมี่มีขั้นตอนค่อนข้างยุ่งยาก ตั้งแต่การเตรียมเส้นด้ายและมัดเพื่อย้อมสีเป็นช่วง ๆ กระทั่งได้สีที่ต้องการครบถ้วน ซึ่งก็ต้องย้อมหลายครั้งด้วยกัน

ผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงหรือโดดเด่น

การออกแบบลายผ้าไหม โดยมีการรวมลาย 9 ลาย แล้วตั้งชื่อว่า ผ้าไหมมัดหมี่เฉลิมพระเกียรติลายนพเก้า ถือเป็นสินค้า OTOP ระดับ 5 ดาวของที่นี่ ใครที่อยากชมการทอผ้าและการย้อมไหมสีธรรมชาติแบบย้อมเย็น สามารถไปชมได้ที่กลุ่มหัตถกรรมคุ้มสุขโข โดยสามารถเลือกซื้อผ้าไหมไทยคุณภาพดีจากที่นี่ด้วย กลุ่มหัตถกรรมคุ้มสุขโขตั้งอยู่ที่ 86 หมู่ที่ 7 บ้านดอนข่า ตำบลชนบท อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น โทร 08 5008 2264 คุ้มสุขโขจัดว่าเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ทำให้เราเข้าถึงวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมจริง ๆ