ผ้าไหมมัดหมี่คั่นขอนารี บ้านเขว้า จ. ชัยภูมิ

เอกลักษณ์ความโดดเด่นของผ้า

เอกลักษณ์ของลายผ้า ลวดลายของผ้าไหมัดหมี่บ้านเขว้า เป็นการสะท้อนความเป็นอยู่และวิถีชีวิตของชุมชนที่เชื่อมโยงกับสิ่งแวดล้อมของชุมชน ก่อให้เกิดจินตนาการคิดค้นออกมาเป็นลวดลายต่าง ๆ  บนผืนผ้าถ่ายทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน

ประวัติความเป็นมา ผ้าไหมมัดหมี่อำเภอบ้านเขว้า โดยเฉพาะตำบลบ้านเขว้า มีประวัติความเป็นมา อันยาวนานเป็นเวลานานเกือบ 200 ปี ตั้งแต่สมัยเจ้าพ่อพระยาแล บ้านเขว้าเป็นชุมชนที่มีการทอผ้าไหมที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันมานานในหมู่ผู้นิยมผ้าไหม และเกิดการเล่าขานแพร่กระจายในกลุ่มนักสะสมผ้าไหมว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์ของตนเองสืบต่อถ่ายทอดกันมาแต่โบราณ

เอกลักษณ์ของลายผ้าหมี่คั่นขอนารี เกิดจากการทำหมี่คั่นลายโบราณ ซึ่งเป็นลายพื้นฐานมารวมกับลายมัดหมี่ กลายเป็นลายเอกลักษณ์ไหมชัยภูมิที่มีความโดดเด่นสวยงาม

ที่ตั้งและการติดต่อ

แหล่งผลิต : ต. บ้านเขว้า อ. บ้านเขว้า จ. ชัยภูมิ

ติดต่อ : เทศบาลตำบลบ้านเขว้า

โทรศัพท์ : 0 4489 1097

ลักษณะและลวดลายการทอหรือการผลิต

การทอผ้าไหมมัดหมี่ของชาวบ้านเขว้าได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรพชน นานเกือบ 200 ปี นับแต่มีการก่อตั้งชุมชนบ้านเขว้า  เริ่มจากการทอเพื่อใช้ในครัวเรือน ต่อมาได้เข้าไปมีส่วนร่วมในงานประเพณีต่าง ๆ เช่น งานแต่งงาน ใช้เป็นเครื่องแต่งกายของเจ้าบ่าว เจ้าสาว ใช้เป็นของไหว้สำหรับญาติฝ่ายชายในงานแต่งงาน งานบวชใช้แต่งตัวนาคและผู้ที่ไปร่วมงาน รวมถึงงานบุญงานทาน งานประเพณีต่าง ๆ ผู้คนจะแต่งกายด้วยผ้าไหมทั้งหญิงและชาย เป็นการประกวด ประชันทั้งฝีมือการทอและการตัดเย็บกันไปในที

ผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงหรือโดดเด่น

ผ้าไหมของบ้านเขว้า เริ่มเป็นที่รู้จักทั่วไปเมื่อประมาณ พ.ศ. 2523 นายถนอม แสงชมภู นายอำเภอขณะนั้น ได้นำผ้าไหมส่งไปที่ศูนย์ศิลปาชีพ สวนจิตรลดา ด้วยคุณภาพของผ้าไหม ลวดลายที่แปลกตาและฝีมือที่ประณีต จึงได้รับความสนใจมีผู้สั่งทอเป็นจำนวนมาก ต่อมาในปี พ.ศ. 2530 ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิในขณะนั้น (ร.ต. สุนัย ณ อุบล รน. :ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ด้านผ้าไหมและผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไหม) ได้ ให้การส่งเสริมการผลิตและได้ส่งผ้าไหมบ้านเขว้าเข้าประกวดที่โครงการศิลปาชีพ พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ จ. สกลนคร ได้รับรางวัลชนะเลิศ หลังจากนั้น ผ้าไหมบ้านเขว้าก็ได้รับการคัดเลือกส่งเข้าประกวดและได้รับรางวัลชนะเลิศเกือบทุกปี

ในปี พ.ศ. 2545 ผ้าไหมบ้านเขว้าได้รับการพิจารณาเป็นสินค้าในโครงการ “หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์”  OTOP ระดับ 5 ดาว ของจังหวัดชัยภูมิ และในการประกวดสินค้าOTOP ของกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ผ้าไหมบ้านเขว้าได้รับรางวัลชนะเลิศของประเทศ

ใน ปี พ.ศ. 2547 อ. บ้านเขว้า ได้รับเกียรติอันสูงยิ่ง ให้เป็นผู้ทอผ้าไหม “ไม้แรกของประเทศ” ในการทอผ้าตามโครงการ “ถักร้อยดวงใจ มหกรรมผ้าไทย เทิดไท้องค์ราชินี” ซึ่งจังหวัดต่าง ๆ จะทอผ้าแล้วนำมาต่อกันเป็นผืนเดียวที่มีความยาวหลายร้อยเมตร นำขึ้นทูลเกล้าฯถวายสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ 6รอบ 72 พรรษา

ผ้าไหมหมักโคลน กลุ่มสตรีทอผ้าไหมบ้านเสี้ยวน้อย จ. ชัยภูมิ

เอกลักษณ์ความโดดเด่นของผ้า

ประวัติความเป็นมา ผ้าไหมของบ้านเสี้ยวน้อย ดั้งเดิมได้ทำแบบพื้นบ้านสำหรับใช้สอยกันในครัวเรือน เพื่อใช้ในงานพิธีสำคัญ และเป็นของฝากสำหรับบุคคลพิเศษ ปัจจุบันผ้าไหมได้กลายเป็นเครื่องนุ่งห่มที่มีราคาสูง สวมใส่ในงานมงคล งานประเพณี วัฒนธรรมของท้องถิ่น เช่น งานแต่งงาน งานบวช ต่อมาจึงมีการพัฒนาสีสัน ลวดลายตามธรรมชาติ การย้อมสีผ้าไหมของทางกลุ่มสตรีทอผ้าบ้านเสี้ยวน้อย จะใช้วิธีทางธรรมชาติเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตามภูมิปัญญาชาวบ้าน เป็นวิถีชีวิตโบราณสืบสานสู่ผืนผ้าไหม ด้วยการนำวัสดุที่ได้จากธรรมชาติ ที่มีในหมู่บ้านทั้งจากพืช เช่น ยอดสมอ ให้สีเหลือง หมักน้ำโคลนจะได้สีเขียว ครั่งจะให้สีแดงเข้ม หมักโคลนจะได้สีม่วง ต้นสบู่เลือดจะได้สีแดง เมื่อหมักโคลนจะได้สีเขียวตองอ่อน โดยทุกขั้นตอนการผลิตทางกลุ่มจะตระหนักถึงความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

กลุ่มสตรีทอผ้าไหมบ้านเสี้ยวน้อย มี “แม่มาลา” หรือนางมาลา วรรณพงศ์  อายุ 62 ปี เป็นประธานกลุ่มสตรีทอผ้าไหมบ้านเสี้ยวน้อย ที่ได้รับรางวัลมากมาย ทั้งด้านการพัฒนาหมู่บ้าน จนเป็นหมู่บ้านตัวอย่างศีลห้า การพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร จนเป็นสินค้า OTOP คุณภาพ อย่างเช่น ผ้าไหมทอมือ ที่กลุ่มแม่บ้านเสี้ยวน้อยได้ร่วมมือกันการเรียนรู้ ตั้งแต่ปลูกหม่อนเพื่อเลี้ยงไหมพื้นบ้าน และปลูกมันสำปะหลังเพื่อเลี้ยงไหมอิรี่ เมื่อได้รังไหมก็นำมาสู่กระบวนการสาวไหม พร้อมนำไปแปรรูปพร้อมฟอกสี ย้อมสีทางธรรมชาติ โดยเฉพาะผ้าไหม “ผ้าไหมหมักโคลน” นำสู่ท้องตลาดจนสามารถสร้างรายได้เข้าหมู่บ้าน ทำให้ชาวบ้านมีคุณภาพชีวิตที่ดี

นอกจากนี้กลุ่มสตรีทอผ้าไหม “บ้านเสี้ยวน้อย” ยังเปิดให้เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยววิถีชุมชน และศูนย์เรียนรู้ ให้กับเด็ก เยาวชน ผู้สนใจดูงาน มาสัมผัสวิถีชีวิตชุมชนหมู่บ้านไหม พร้อมชมสาธิต การสาวไหม ทอผ้าไหม การฟอกย้อมจากสีธรรมชาติ การทำผ้าหมักโคลน ตลอดจนเลือกซื้อ ผ้าไหมสีธรรมชาติ ผ้าไหมหมักโคลน และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากไหม

ที่ตั้งและการติดต่อ

แหล่งผลิต : กลุ่มสตรีทอผ้าไหมบ้านเสี้ยวน้อย

ที่ตั้ง : 6/1 ม. 1 บ้านเสี้ยวน้อย ต. บ้านเล่า อ. เมือง จ. ชัยภูมิ

โทรศัพท์ : 08 7253 5284 (คุณแม่มาลา)

ผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงหรือโดดเด่น

กลุ่มสตรีทอผ้าไหมบ้านเสี้ยวน้อย เป็นกลุ่มที่สร้างผลิตภัณฑ์ทอผ้าไหม จนได้รับตราสัญญาลักษณ์แสดงถึงการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม G สีทองแดง G สีเงิน G สีทอง รับรองโดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (G แสดงถึง Green Production เป็นการรับรองประเภทสิ่งทอ แบ่งเป็น 3 ระดับ คือ ทอง (ดีเยี่ยม) เงิน (ดีมาก) และทองแดง (ดี)

 

ฝ้ายทอมือย้อมสีธรรมชาติ บ้านหนองบัวแดง จ. ชัยภูมิ

เอกลักษณ์ความโดดเด่นของผ้า

การทอผ้าและผลิตผ้าของคนชัยภูมินั้น จากประวัติที่ได้รับการบอกเล่าและบันทึกไว้ว่า ช่วงสมัยรัตนโกสินทร์ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พ.ศ. 2360 ชาวชัยภูมิได้ผลิตผ้าไหมอย่างดี เป็นที่รู้จักตั้งแต่สมัยของ พระยาภักดีชุม (แล) เจ้าเมืองชัยภูมิ ที่ชาวชัยภูมิให้การเคารพเป็นอย่างสูง เป็นชาวเวียงจันทร์ได้อพยพย้ายถิ่นฐานมาตั้งเมืองที่เมืองชัยภูมิ ในสมัยนั้นต้องมีการส่งเครื่องบรรณาการไปถวายที่เมืองหลวง (กรุงเทพฯ) และเวียงจันทร์ ประเทศลาว ซึ่งหนึ่งในเครื่องราชบรรณาการที่สำคัญ คือ ผ้าไหม ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ชาวบ้านมีภูมิปัญญาเรื่องของการทอผ้าสะสมมาเป็นเวลาช้านาน

เนื่องจากชาวชัยภูมิเป็นผู้มีศิลปะในตัวเอง จึงได้คิดค้นลายมัดหมี่จากสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัว มาออกแบบเป็นลายผ้ามากมายกว่า 539 ลาย ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป โดยผ้าบางชิ้นมีอายุมากกว่า 200 ปี และมีการพัฒนาเรื่องผ้า จากผ้าไหม ไปสู่ผ้าฝ้าย และยกระดับสู่การผลิตผ้าฝ้ายย้อมสีธรรมชาติปลอดสารพิษ (ฝ้ายออแกนิก) จนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของผู้คนทั่วไปในปัจจุบัน

ที่ตั้งและการติดต่อ

แหล่งผลิต : วิสาหกิจชุมชนกลุ่มทอผ้าย้อมสีธรรมชาติหนองบัวแดง

ที่ตั้ง : 13 ต. หนองบัวแดง อ. หนองบัวแดง จ. ชัยภูมิ

โทรศัพท์ : 09 2325 4655 (คุณอนัญญา เค้าโนนกอก)

ลักษณะและลวดลายการทอหรือการผลิต

ลักษณะเด่นของผ้าทอมือย้อมสีธรรมชาติหนองบัวแดง คือ การยังคงสืบสานภูมิปัญญาการทอผ้า และสืบทอดวิธีการทอและลวดลายการทอแบบโบราณเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นลงบนผืนผ้าที่ย้อมสีด้วยวัตถุดิบจากธรรมชาติ โดยลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ และได้รับความนิยมมากทั้งในและต่างประเทศ คือ ลายไข่มดแดงและลายนาค

ขั้นตอนการผลิต

การผลิตเส้นฝ้าย เป็นการทำฝ้ายให้เป็นเส้นที่พร้อมจะนำไปย้อมสีและทอ ซึ่งจะต้องผ่านกระบวนการต่าง ๆ ดังนี้
1. การอิ้วฝ้าย คือ การรีดเมล็ดฝ้ายออกจากดอกฝ้าย ด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า “อิ้ว”
2. การดีดฝ้าย คือ การนำปุยฝ้ายที่รีดเมล็ดแล้วมาดีดให้เป็นเนื้อเดียวกัน โดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า เฟียด และ สายดีด
3. การล้อฝ้าย คือ การนำปุยฝ้ายที่ผ่านการดีดฝ้ายแล้วมากลึงให้เป็นเส้นกลมยาวคล้ายหลอดกาแฟ โดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า “ล้อ”
4. การเข็นฝ้าย คือ การนำฝ้ายที่ผ่านการล้อแล้วไปทำการกรอเป็นเส้นด้าย

การย้อมสีธรรมชาติ 

  1. การเตรียมวัตถุดิบธรรมชาติในการย้อมสี วัตถุดิบธรรมชาติที่ใช้ในการย้อมสี ได้จากพืชพรรณที่ขึ้นในท้องถิ่น โดยใช้ส่วนที่เป็น ราก ลำต้น ใบ ดอก และผล ของพืชต่าง ๆ นอกจากนี้ยังใช้โคลนในการย้อมสีอีกด้วย
    2. การมัดหมี่ เป็นการมัดลายที่ต้องการ โดยลายแต่ละลายจะได้รับการคิดค้นจากสมาชิกของกลุ่มและเลือกใช้ลายที่มีการอนุรักษ์ไว้ ในการมัดจะใช้เชือกฟางมัดบนเส้นฝ้าย จากนั้นนำฝ้ายที่มัดหมี่เรียบร้อยแล้วลงไปย้อมสีและนำไปผึ่งแดดให้แห้ง
    3. การย้อมสี เป็นการนำวัตถุดิบจากธรรมชาติมาต้มในน้ำร้อนเพื่อให้เกิดสี และนำไปย้อมฝ้ายที่เตรียมไว้ การย้อมสีมี 2 แบบ คือ การย้อมร้อน โดยนำฝ้ายที่ย้อมไปแช่ในน้ำประสาน ซึ่งได้แก่ น้ำปูนใส น้ำสารส้ม และน้ำด่าง และจึงนำฝ้ายไปผึ่งแดดให้แห้งสนิท อีกวิธีหนึ่ง คือ การย้อมเย็น เป็นการย้อมโดยใช้ผลมะเกลือ ผลตะโก และโคลน

การทอ ผ้าฝ้ายที่ทอมี 2 แบบ คือ ผ้าพื้น(ไม่มีลวดลาย) และผ้าลายมัดหมี่ โดยนำฝ้ายที่ผ่านการย้อมแล้วมาทอโดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า “กี่”

ผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงหรือโดดเด่น

วิสาหกิจชุมชนกลุ่มทอผ้าย้อมสีธรรมชาติหนองบัวแดง ตระหนักในคุณค่าของภูมิปัญญาท้องถิ่น ทุก ๆ กระบวนการผลิตมีความสอดคล้องกับวิถีชีวิต วัฒนธรรมของชาวอีสาน ตั้งแต่การปลูก การทอ สู่การตลาด สร้างเป็นระบบเศรษฐกิจชุมชน เพื่อให้ชุมชนมีความเข้มแข็งและมีความภาคภูมิใจในภูมิปัญญาและวัฒนธรรมพื้นถิ่นของตนเอง ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่เกิดจากความสัมพันธ์ของวิถีชีวิตการเกษตรที่สัมพันธ์กันแบบองค์รวม สามารถพึ่งตนเองได้ในเรื่องของปัจจัยสี่ได้อย่างเหมาะสม จากวัตถุประสงค์การดำเนินงานของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มทอผ้าย้อมสีธรรมชาติหนองบัวแดง ทำให้สามารถค้นหาศักยภาพเกิดพลังสร้างสรรค์งานทอได้อย่างมีเอกลักษณ์ เป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่นได้อย่างชัดเจน ด้วย สีสันลวดลาย เส้นใย งานทอมือด้วยกี่พื้นบ้าน เทคโนโลยีที่เหมาะสมของพื้นถิ่น แนวทางการดำเนินงานของกลุ่ม คือ การทำงานร่วมกับชุมชนและคนในพื้นที่ คือความพยายามในการสร้างให้ภูมิปัญญาเหล่านี้มีมูลค่า เพื่อให้เกิดเศรษฐกิจเล็กๆ ขึ้น มาหล่อเลี้ยงชีวิตคนที่นี่ ให้เขาภูมิใจใน ‘คุณค่า’ แต่ไม่ไปหลง ‘มูลค่า” วิธีคิดในการทำงานที่อยู่บนพื้นฐานของการทำงานแบบ “เกื้อกูลกัน” คือ ใครเก่งอะไรก็ให้ทำอย่างนั้น คนหนึ่งคนไม่จำเป็นต้องทำได้ทุกอย่าง แต่ทำเฉพาะที่ถนัด ที่เชี่ยวชาญ แล้วเอาความถนัดนั้นมาแบ่งปันเกื้อกูลกัน จนได้คำตอบของ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มทอผ้าย้อมสีธรรมชาติหนองบัวแดง คือ การเปลี่ยนความคิดของเราไปโดยสิ้นเชิง การทำงานกับชุมชน ต้องเรียนรู้ที่จะ “เคารพ” ซึ่งกันและกัน ต้องทำงานบนความเข้าใจ และปรับตัวให้เข้ากับสิ่งที่ทุกคนเป็น บ้านนอกหรือชนบทนั้นจะอยู่กันแบบครอบครัวใหญ่ เมื่อถึงฤดูทำนา ไปช่วยกันทำนา ถึงคราวปลูกฝ้าย ก็ไปช่วยกันปลูกฝ้าย ส่วนการทำให้งานบรรลุเป้าประสงค์นั้น ก็มีการปรับแผนงาน ให้สอดคล้องไปกับวิถีชีวิตชุมชน เป็นต้น การทำงานลักษณะดังกล่าว ไม่เพียงสร้างเศรษฐกิจให้ชุมชน ด้วยการฟื้นอาชีพทอผ้าขึ้นมาเท่านั้น ทว่ายังรวมถึง การส่งเสริมให้ชุมชนอยู่ได้ด้วยลำแข้ง ด้วยการสร้างปัจจัย 4ด้วยสองมือของชุมชน ชุมชนที่นี่ผลิตอาหารทานเอง ทำเครื่องนุ่งห่มใช้เอง เน้นทุกอย่างที่ปลอดภัย เป็นอินทรีย์ ดีต่อสุขภาพ เพื่อเป็นยาให้กับคนในชุมชน ที่สำคัญ ยังสนับสนุนให้คนไปทำบุญ เพื่อที่จะอยู่ได้อย่างมีความสุข ทั้งกายและใจ จากนั้นก็ถ่ายทอดแนวคิดนี้ไปยังลูกหลาน เพื่อให้รู้หลัก “เศรษฐกิจพอเพียง” รู้จักพอตามกำลังของตัวเอง ไม่เป็นหนี้ไม่เป็นสิน