เอกลักษณ์ความโดดเด่นของผ้า
ผ้าซิ่นตีนแดง หรือที่เรียกกันว่า “หมี่รวด” จะเป็นผ้าพื้นที่ย้อมสีแดงในส่วนของหัวซิ่นและตีนซิ่น ตัวซิ่นจะเป็นสีดำลวดลายมัดหมี่ที่มีสีแดง สีเหลือง สีน้ำตาล มีสีเขียวปนบ้างเล็กน้อย ลวดลายที่ใช้ในการทอตัวซิ่นจะเป็นลายแข่วเลื่อย ลายนาค ลายขอแบบต่าง ๆ นิยมทอเป็นไหมลีบ (เส้นไหมจากเปลือกนอกของรังไหม) เพราะมีเส้นขนาดใหญ่ ทอเสร็จเร็ว เห็นลวดลายชัดเจน ลักษณะพิเศษของผ้าซิ่นหัวแดงตีนแดงจะมีการจกสีไหมเหมือนผ้าแพรวาเพิ่มเติมของส่วนตีนซิ่นสีแดง นิยมใช้ลายเก็บตีนดาว ผ้าซิ่นตีนแดง เป็นการค้นคิดของบรรพบุรุษของชาวอำเภอพุทไธสง นับเป็นมรดกตกทอดของชาวอำเภอพุทไธสงโดยแท้
เอกลักษณ์ของซิ่นตีนแดง
ซิ่นตีนแดงแตกต่างจากซิ่นอื่น ๆ โดยสิ้นเชิง คือ หัวซิ่นและตีนซิ่นเป็นสีแดง ตัวซิ่นเป็นสีดำ หมัดหมี่สีเหลือง แดง ขาว มีเขียวปนบ้าง เครือซิ่นด้านหัวและด้านตีนกว้างประมาณ 8 หลบ (1 หลบ เท่ากับ 40 เส้น) ลายที่ใช้เป็นลายเก่าดั้งเดิม คือ ลายนาค ลายแข่วเลื่อย ลายขอต่าง ๆ นิยมทำด้วยไหมลีบ (ไหมเปลือกนอก) เพราะเส้นใหญ่ขึ้นลายได้สวยชัดเจน ทอเสร็จเร็ว ที่สำคัญ “เก็บตีนดาว” เพื่อประดิษฐ์ตกแต่งและแสดงฝีมือของผู้ผลิต
ประเภทของผ้าซิ่นตีนแดง
ซิ่นตีนแดงทอออกมา 2 ประเภท โดยใช้ตีนซิ่น ( เชิง ) เป็นตัวแยกประเภท ดังนี้
– ซิ่นตีนแดงธรรมดา คือ ซิ่นตีนแดงที่ตกแต่งตีนซิ่นเป็นลายมัดหมี่ลายต่าง ๆ เช่น ตีนโยง ตีนต้น ตีนม้า หรือลายอื่น ๆ
– ซิ่นตีนแดงที่เก็บตีนดาว ( จกสีไหมเหมือนผ้าแพรวา ) คือ ซิ่นตีนแดงที่นอกจากจะตกแต่งลายที่ตีนซิ่นเป็นลายมัดหมี่แบบต่าง ๆ แล้ว ยังมีการใช้ไหมสีขาว สีเหลือง และสีเขียวตกแต่งเป็นลายประดับที่ตีนซิ่น เช่น ลายพั่วดอกฮั่ง (พวงดอกรัง ) หรือลายเอี้ยต่าง ๆ
ที่ตั้งและการติดต่อ
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : ศูนย์หัตถกรรมพื้นบ้านนาโพธิ์
ที่ตั้ง: ภายในที่ว่าการอำเภอนาโพธิ์ ม. 13 ต. นาโพธิ์ อ. นาโพธิ์ จ. บุรีรัมย์ 31230
โทรศัพท์: 08 1977 2419 คุณชุติกาญจน์ บุญงาม
ลักษณะและลวดลายการทอหรือการผลิต
เอกลักษณะของผ้าซิ่นตีนแดง
ผ้าซิ่นตีนแดงเป็นผ้าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทอด้วยไหมทั้งผืนหัวซิ่นและตีนซิ่นของผ้าจะเป็นสีแดงสด ตอนกลางของผ้าจะเป็นลายมัดหมี่ เรียกว่าหมี่ขอ จะเป็นสีดำ สีน้ำตาลเหลือบทอง จะทอเป็นผืนเดียวกัน ไม่ใช้การตัดต่อระหว่างตัวซิ่น หัวซิ่นและตีนซิ่น สมัยโบราณจะทอให้เด็กและวัยรุ่นนุ่ง เพราะเป็นผ้าที่มีสีสดใสมาก โดยใช้ฟืมซาว (ฟืม 20) จะเป็นผืนเล็ก ๆ เหมาะสำหรับเด็ก ต่อมาได้ปรับปรุงการทอให้เป็นผ้าผืนใหญ่ กว้างและยาวขึ้น จึงใช้ฟืม 40 ในการทอ การทำซิ่นตีนแดงมีความยุ่งยากกว่ามัดหมี่ชนิดอื่น จึงไม่ค่อยนิยมทำกันและเกือบจะสูญหายไป แต่ได้มีการนำซิ่นชนิดนี้ ไปแสดงในงานนิทรรศการสมบัติอีสานใต้ ครั้งที่ 2 และทางมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ได้นำซิ่นชนิดนี้ไปใช้สำหรับนักแสดงนาฏศิลป์ เพื่อประชาสัมพันธ์ทั้งในจังหวัดต่างจังหวัด และต่างประเทศ เช่น ชุดการแสดง “ระบำเทพอัปสร” และได้เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับผ้าซิ่นตีนแดงลงในหนังสือหลายเล่ม เช่น อนุสรณ์ 200 ปีเมืองพุทไธสง, สมบัติอีสานใต้ 6, หนังสือพิมพ์สื่อสารธุรกิจ และหนังสือวัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์ และภูมิปัญญาไทย จ.บุรีรัมย์ นอกจากนั้นมีการร่วมรณรงค์ให้หันมาผลิตและใช้แต่งกายในงานประเพณีสำคัญ เช่น บุญบั้งไฟ งานสงกรานต์
ลอยกระทงและกิจกรรมต่าง ๆ ของนักเรียน ซิ่นตีนแดงจึงกลับเป็นที่รู้จักและเป็นที่นิยมของบุคคลทั่วไป กลายเป็นสิ่งจำเป็นแก่ชาวพุทไธสงและนาโพธิ์ ทุกครัวเรือนจะต้องมีไว้ประจำบ้าน จึงทำให้ซิ่นตีนแดงกลับมาเป็นที่นิยมและสร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างงดงาม และในปี พ.ศ. 2546 ผ้าซิ่นตีนแดงได้กลายเป็นผ้าเอกลักษณ์ประจำ จ. บุรีรัมย์
ผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงหรือโดดเด่น
ปัจจุบันการทอผ้าไหมมีอยู่ทั่วไปทุกอำเภอ แต่แหล่งทอผ้าไหมที่ใหญ่ที่สุดและสำคัญที่สุด คือ ที่ อ. นาโพธิ์ โดยเฉพาะที่บ้านโคกกุง มีศูนย์พัฒนาผ้าไหมและกลุ่มแม่บ้านเลี้ยงไหมนอกจากนี้ยังมีที่บ้านมะเฟือง อ. พุทไธสง ซึ่งทอผ้าไหมด้วยกี่ธรรมดาหรือกี่ชาวบ้าน การทอผ้าไหมที่ อ. พุทไธสง และ อ.นาโพธิ์ จะมีการทอผ้ามัดหมี่ลายพื้นเมืองดั้งเดิมและแบบลายประยุกต์ โดยเฉพาะผ้ามัดหมี่ตีนแดง ซึ่งเป็นผ้าไหมมัดหมี่ทอหัวซิ่นเป็นพื้นสีแดงไม่มีลวดลายส่วนลายตัวซิ่นนิยมใช้ลายฟันเลื่อย ลายนาค เป็นต้น
ประวัติผ้าซิ่นตีนแดง
“ซิ่นหัวแดงตีนแดง” หรือ “ซิ่นตีนแดง” หรือ “ซิ่นหมี่รวด” ได้ทอขึ้นครั้งแรกโดยช่างฝีมือทอผ้าในคุ้มของพระยาเสนาสงคราม (เจ้าเมืองคนแรกของอำเภอพุทไธสง) แถวบ้านหนองหัวแฮดและในบ้านโนนหมากเฟือง เมืองพุทไธสง เมื่อประมาณ 200 ปีมาแล้ว (ปัจจุบัน คือ บ้านศรีษะแรตและบ้านมะเฟือง ในปัจจุบัน) เป็นผ้าซิ่นที่กลุ่มคนเชื้อสายลาวเป็นผู้ประดิษฐ์คิดค้นขึ้น ผ้าซิ่นตีนแดงจึงเป็นผ้าซิ่นลาว (เคยมีการสันนิษฐานว่าเป็นผ้าซิ่นเขมร) จากหลักฐานตำนานพระเจ้าใหญ่และการก่อตั้งหมู่บ้านศีรษะแรตว่า “ในสมัยก่อน ท้าวศรีปาก ( นา ) ท้าวเหลือสะท้าน ท้าวไกรสร เสนาบดีเมืองสุวรรณภูมิ (ปัจจุบันอยู่ในเขต จ. มหาสารคาม) ซึ่งเป็นคนไทยเชื้อสายลาว พร้อมด้วยบริวาร ชอบเข้ามาล่าสัตว์ในเขตลุ่มน้ำลำพงชู ตลอดไปจนถึงลุ่มน้ำชี (ในเขต จ. ชัยภูมิ) กล่าวกันว่า การล่าแรดเพื่อนำนอมาทำยานั้น ถ้าพบแรดในเขตพุทไธสงจะไล่ล่าได้ในเขตชัยภูมิ และถ้าพบในเขตชัยภูมิจะไล่ล่าได้ในเขตพุทไธสง ครั้งหนึ่งทั้งสามได้ยิงได้นกขนาดใหญ่สวยงามมากตัวหนึ่งที่บริเวณบึงสระบัว เรียกกันว่า “นกหงส์” นกตัวนั้นบินมาตกบริเวณป่ารกด้านทิศตะวันออก จึงออกตามหานกตัวนั้นในป่าดังกล่าว แต่กลับพบพระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่ไม่เคยพบที่ใดมาก่อน ด้วยความดีใจจึงเลิกค้นหานกและพากันสำรวจบริเวณรอบ ๆ องค์พระ พบเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยมด้านหลังพระพุทธรูป พบหนองน้ำขนาดย่อมด้านหน้าองค์พระ มีหัวแรดตายมานานแล้วอยู่ในหนองน้ำนั้น มีต้นตาลเรียงรายอยู่รอบ ๆ ทั้งสี่ทิศ มีเถาวัลย์คลุมรุงรัง ไม่มีหมู่บ้านคนในบริเวณนั้น จึงกลับไปบ้านเกิดและชักชวนญาติพี่น้องมาตั้งรกรากที่นี่แล้วตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “หนองหัวแฮด” ตามหัวแรดที่พบ โดยมีท้าวศรีปาก ( นา ) เป็นเจ้าเมือง เรียกว่า “อุปฮาดราชวงศ์” และได้ช่วยกันบูรณปฏิสังขรณ์บริเวณที่ได้พบพระพุทธรูปอยู่เป็นวัด ชื่อว่า “วัดหงส์” ตามชื่อนกที่ยิงแล้วมาตกบริเวณนั้นองค์พระเจ้าใหญ่ สันนิฐานว่าสร้างพร้อมกับเมืองพุทไธสง คือ ประมาณ พ.ศ. 2200 ช่างที่สร้างพระเจ้าใหญ่อาจเป็นช่างสกุลลาว เพราะพระพุทธรูปหลายองค์ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชอัญเชิญมามีพระเกศเหมือนพระเจ้าใหญ่ เช่น ที่วัดสระปทุม พระเกศลักษณะนี้มีเฉพาะในภาคอีสานและประเทศลาวเท่านั้น” จากหลักฐานดังกล่าวจึงน่าจะเชื่อได้ว่า ผ้าซิ่นตีนแดงนั้นเป็นผ้าซิ่นของกลุ่มชนลาวไม่ใช่เขมร ต่อมาได้แพร่ขยายการทอผ้าซิ่นตีนแดงจากบ้านศีรษะแรตและบ้านมะเฟืองไปยังหมู่บ้านใกล้เคียง คือ บ้านจาน บ้านแวง และบ้านนาโพธิ์ (ปัจจุบันเป็น อ. นาโพธิ์ แยกออกจาก อ. พุทไธสง เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2531) ซิ่นตีนแดง หรือ ซิ่นหมี่รวด เป็นผ้าเอกลักษณ์ท้องถิ่นของชาว อ. พุทไธสง และ อ.นาโพธิ์ ไม่มีในท้องถิ่นอื่น
ผ้าหางกระรอก บ้านสนวนนอก จ. บุรีรัมย์
เอกลักษณ์ความโดดเด่นของผ้า
ผ้าหางกระรอก มีประวัติความเป็นมาเริ่มจากคนโบราณรู้จักการเลี้ยงไหมและการทอผ้า จนต่อมาได้พัฒนาเทคนิคการทอต่าง ๆ เช่น การควบเส้น (การนำไหม 2 สี มาสาวรวมกันเป็นเส้นเดียว) ต่อมาชุมชนบ้านสนวนนอก ซึ่งสมัยนั้นมีต้นสนวนขึ้นเยอะมาก มักเป็นที่อาศัยของกระรอก และด้วยนิสัยความช่างสังเกตของคนโบราณ สังเกตเห็นว่า ลายของหางกระรอกนั้นคล้ายกับไหมที่ถูกควบเส้นแล้ว จึงเป็นที่มาของชื่อ “ผ้าหางกระรอก” นับตั้งแต่บัดนั้น
ที่ตั้งและการติดต่อ
แหล่งผลิต : บ้านสนวนนอก
ที่ตั้ง : ม. 2 ต. สนวน อ. ห้วยราช จ. บุรีรัมย์
สอบถามรายละเอียดได้ที่
ผู้ใหญ่บ้านบุญทิพย์ โทร. 08 5411 4435 หรือ คุณสำเริง โทร. 08 0472 4435
และสามารถสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชื่อมโยงใน จ. บุรีรัมย์ ได้ที่ ททท. สำนักงานบุรีรัมย์ (ดูแลบุรีรัมย์) โทร. 04 4634 4722-3
ลักษณะและลวดลายการทอหรือการผลิต
ลักษณะของผ้าหางกระรอก
ผ้าหางกระรอก เป็นชื่อเรียกผ้าชนิดหนึ่งที่มีลักษณะของลวดลายเนื้อผ้าเหลือบสีเห็นเป็นลายเส้นเล็ก ๆ ในตัวมองดูคล้ายกับขนของหางกระรอก แลดูสวยงาม แปลกตา ซึ่งเกิดขึ้นจากการใช้เทคนิคการทอผ้าที่เป็นเอกลักษณ์ของชนเผ่าไท คือ การควบเส้น ตามความเชื่อในเรื่องของความกลมเกลียวสามัคคีกันในครอบครัวและสายตระกูลที่นับถือผีด้วยกัน การนำไหมสองสีมาควบกันนี้เรียกว่า “ผ้าหางกระรอก” หรือ ““กะนีว” ซึ่งวิธีการทอแบบนี้มักพบแต่ในแถบอีสานใต้ และนิยมใช้เพียงสีเขียวควบเหลือง หรือแดงควบเหลือง
ข้อดีของผ้าหางกระรอก เมื่อนำ ผ้าหางกระรอก มาใช้เป็นเส้นพุ่งทอกับเส้นยืน สีพื้นที่ต่างกันจะทำให้เกิดลวดลายเหลื่อมกัน ให้ความสวยงามที่ได้จากคู่สีที่ตัดกัน ลักษณะของผ้าหางกระรอกนี้ ผิวสัมผัสจะมีความมันระยิบระยับเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ถ้านำไปส่องกับแดดจะยิ่งเห็นความเงางามมากขึ้น และสมารถแยกสีได้อย่างชัดเจน ส่วนเนื้อผ้าที่ได้จะมีความแน่นเกิดจากไหมที่เป็นเส้นคู่
เหมือนง่ายแต่ไม่ง่าย ดู ๆ ไปแล้ว ผ้าหางกระรอกก็คือ การใช้ไหม 2 เส้น 2 สี มาสาวรวมกัน แต่ถ้าได้ลองทำจริง ๆ จะรู้เลยว่าไม่ได้ง่ายแบบนั้น เพราะผ้าหางกระรอกที่สวยงามต้องใช้คนสาวไหมที่มีความชำนาญ จนสามารถกำหนดว่าอยากจะได้เกลียวถี่หรือเกลียวห่างตามต้องการ เพราะหากทำไม่ดีก็จะขึ้นลายไม่เท่ากัน ดังนั้นทั้งเส้นจะต้องมีความสม่ำเสมอตลอด ไม่เช่นนั้นเวลานำไปทอจะขึ้นลายสลับไปมาไม่เกิดความสวยงาม และเวลานำไปทอก็ต้องเลือกหลอดให้ดี สีต้องสม่ำเสมอเท่ากันทุกหลอด ไม่เป็นขุยเป็นก้อนการประยุกต์ผ้าหางกระรอก
ผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงหรือโดดเด่น
แต่เดิมผ้าหางกระรอก คือ วัฒนธรรมของชาวเขมร คือ ส่วนทางลาวจะมีชื่อเสียงเรื่องผ้าซิ่น จุดหลอมรวมของสองวัฒนธรรม คือ ที่ชุมชนบ้านสนวนนอก ได้นำเอกลักษณ์ของทั้งสองเชื้อชาติมาประยุกต์เป็น “ผ้าหางกระรอกคู่ตีนแดง” ซึ่งกลายมาเป็นผ้าเอกลักษณ์ประจำชุมชนบ้านสนวนนอก และยังได้รับคัดเลือกเป็นผ้าประจำ จ. บุรีรัมย์ อีกด้วย
ผ้าภูอัคนี หรือ ผ้าย้อมดินภูเขาไฟ บ้านเจริญสุข จ. บุรีรัมย์
เอกลักษณ์ความโดดเด่นของผ้า
ผ้าภูอัคนี หรือ ผ้าย้อมดินภูเขาไฟ เกิดจากภูมิปัญญาชาวบ้านหมู่บ้านเจริญสุข ที่ได้นำผ้าฝ้ายหรือผ้าไหมไปย้อมกับดินภูเขาไฟ วัตถุดิบจากธรรมชาติที่หาได้ง่ายในท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้ในการย้อมสีผ้าให้ออกมามีสีสวยงามอย่างมีเอกลักษณ์ เพราะหมู่บ้านเจริญสุขนั้นตั้งอยู่ใกล้กับ “เขาพระอังคาร” ซึ่งเป็นภูเขาไฟเก่าแก่ที่ดับแล้ว 1 ใน 6 ลูก ของ จ. บุรีรัมย์ ดินบริเวณนี้เป็นดินที่อุดมด้วยแร่ธาตุจากลาวาภูเขาไฟที่ปะทุออกมาในอดีต ซึ่งนอกจากเป็นประโยชน์ในการเพาะปลูกแล้ว ชาวบ้านเจริญสุขยังคิดค้นวิธีการนำดินเหล่านี้มาใช้ย้อมผ้าอีกด้วย
ที่ตั้งและการติดต่อ
แหล่งผลิต: กลุ่มอาชีพสตรีทอผ้าฝ้าย – ไหม (ภูอัคนี)
ที่ตั้ง: 143 หมู่ 12 ต.เจริญสุข อ. เฉลิมพระเกียรติ จ. บุรีรัมย์ 31110
เวลาเปิด-ปิด: 09.00-17:00 น. ทุกวัน
โทรศัพท์: 09 7007 4244
ลักษณะและลวดลายการทอหรือการผลิต
ขั้นตอนการผลิต สมาชิกกลุ่มทอผ้าฝ้ายผ้าไหม หมู่บ้านเจริญสุข ได้อธิบายให้ฟังว่า “ขั้นตอนการย้อมนั้นไม่ยากอะไรเลย เริ่มต้นจากการนำดินภูเขาไฟใกล้ ๆ กับเขาพระอังคารมาคัดเศษผงที่เจือปนออก หลักจากนั้นก็นำไปผสมกับน้ำในอัตราส่วน ดินภูเขาไฟ 3 กิโลกรัม ต่อ น้ำเปล่า 10 ลิตร ก็จะได้น้ำดินภูเขาไฟที่มีสีน้ำตาล สำหรับขั้นตอนนี้ หากอยากได้ผ้าสีเข้มก็ผสมน้ำให้น้อยลง หากอยากได้สีอ่อนก็ผสมน้ำให้มากขึ้น”
ขั้นตอนต่อไป คือ ขั้นตอนการย้อมสีผ้า โดยจะนำผ้าฝ้ายหรือผ้าไหมที่ต้องการย้อมสี ซึ่งจะใช้ผ้าน้ำหนัก 1 กิโลกรัม ในการย้อมแต่ละครั้ง ลงไปแช่ในน้ำดินภูเขาไฟที่เตรียมไว้ โดยจะใช้เวลาในการแช่ผ้าทิ้งไว้ประมาณ 8-10 ชั่วโมง ก็จะได้ผ้าสีน้ำตาลเย็นตา สีสันสวยงามตามที่ต้องการ หลักจากนั้นก็จะนำผ้าที่ได้ไปล้างน้ำให้สะอาด แล้วนำไปตากที่ราวและยืดให้ตรง
นอกจากนี้ หมู่บ้านเจริญสุขแห่งนี้ยังมีภูมิปัญญาที่จะรักษาสีผ้าให้คงทนด้วยเช่นกัน นั้น คือ การนำผ้าที่ได้จากการย้อมดินภูเขาไฟไปต้มกับ “น้ำเปลือกต้นประดู่” ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งภูมิปัญญาชาวบ้านในการนำวัตถุดิบที่หาได้จากท้องถิ่นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยนำเปลือกต้นประดู่มาต้มในน้ำ ซึ่งน้ำต้มจะต้องร้อน แต่ไม่ให้เดือดจนเกินไป หลังจากนั้นนำผ้าที่ผ่านการย้อมดินภูเขาไฟลงไปแช่ประมาณครึ่งชั่วโมง ขั้นตอนนี้จะเป็นการป้องกันการตกสี และในน้ำเปลือกต้นประดู่ ยังมียางแ ละสีที่คล้ายกับสีดินภูเขาไฟ จึงเป็นการเคลือบสีไปในตัว ผ้าที่ได้ จึงเงางามยิ่งขึ้นและไม่ตกสี
ผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงหรือโดดเด่น
มีแห่งเดียวในจังหวัดบุรีรัมย์
การทำผ้าภูอัคนี นับได้ว่าเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่น่ามหัศจรรย์ ที่นำดินธรรมดา ๆ มาสร้างสรรค์ให้กลายมาเป็นสีสันที่งดงามมีเอกลักษณ์ จนเป็นหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจของ จ. บุรีรัมย์ และยังได้ผ่านการรับรองจากกระทรวงอุตสาหกรรมว่า มีแห่งเดียวในจังหวัดบุรีรัมย์ และได้รับเลือกให้เป็นหมู่บ้าน OVC หรือ OTOP Village Champion ที่ได้รับการสนับสนุนจาก กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย อีกด้วย
โดยทางกลุ่มสตรีทอผ้าไหม-ผ้าฝ้าย ในหมู่บ้านเจริญสุขได้มีการพัฒนารูปแบบบรรจุภัณฑ์ที่สวยงามเป็นเอกลักษณ์ เหมาะสำหรับนำไปใช้และเป็นของฝาก และยังเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาเยี่ยมชม ในรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงเรียนรู้วัฒนธรรมและวิถีชุมชน เพื่อทำความรู้จักกับกระบวนการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์เด่นประจำท้องถิ่นในทุกขั้นตอน เพื่อเป็นการสืบสานวัฒนธรรม ภูมิปัญญาไทย ที่ควรค่าแก่การรักษาให้คงอยู่อย่างยั่งยืน