ผ้าไหมมัดหมี่ ลายสร้อยดอกหมาก กลุ่มทอผ้าไหมบ้านกุดรัง จ.มหาสารคาม

เอกลักษณ์ความโดดเด่นของผ้า

ทำให้มีคุณสมบัติพิเศษเป็นจุดเด่น คือ เป็นลายเล็กที่มีความละเอียดอย่างยิ่ง เมื่อนำมาประยุกต์สีสันลงไปในการมัดย้อมแต่ละครั้งจะทำให้มองดูสวยงามระยิบระยับจับตามีคุณค่ามากขึ้น

การทอผ้าไหมลายสร้อยดอกหมาก เส้นไหมที่ใช้จะต้องเส้นเล็ก มีความสม่ำเสมอ การทอผ้าไหมลายสร้อยดอกหมาก
ใช้เวลาในการทอมากและขึ้นอยู่กับความละเอียดของลาย เฉพาะการมัดหมี่ก็ใช้ระยะเวลานาน 4-5 วัน ยิ่งลายละเอียดก็ต้องขยายลำหมี่ให้มากขึ้นเป็น 49 ลำ หรือเป็น 73 ลำ ดอกก็จะมีขนาดเล็กลงไป ส่วนขั้นตอนการทอก็ใช้เวลาพอสมควร

ที่ตั้งและการติดต่อ

แหล่งผลิต: กลุ่มทอผ้าไหมบ้านกุดรัง

ที่ตั้ง : 69 ม. 16 วัดกลางกุดรัง ต. กุดรัง อ. กุดรัง จ. มหาสารคาม

โทรศัพท์ : 08 5743 0485 คุณเบญจพร เรืองเดช (ประธานกลุ่ม) / 08 1613 7897 คุณเตือนใจ ขันผง (เหรัญญิก)

ลักษณะและลวดลายการทอหรือการผลิต

“ลายสร้อยดอกหมาก” เป็นชื่อลายตามคำเรียกของคนโบราณ ปัจจุบันชาวบ้านอาจเรียกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น เช่น ลายเกล็ดปลา หรือลายโคมเก้า เกิดจากการนำเอา “ลายโคมห้า” มามัดซ้อนกับ “ลายโคมเก้า”และทำการโอบหมี่แลเงาเพื่อให้ลายแน่นขึ้น ละเอียดขึ้น

ผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงหรือโดดเด่น

จ. มหาสารคาม ได้จัดให้มีการประกวดผ้าไหมประจำจังหวัดขึ้น ปรากฏว่า ผ้าไหมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศนั้น คือ ลายสร้อยดอกหมาก เพราะมีความสวยงามและวิจิตรบรรจงมาก จึงได้เลือกผ้าไหมลายสร้อยดอกหมากเป็นผ้าไหมประจำจังหวัด พร้อมกับสนับสนุนให้ชาวบ้านทอผ้าลายนี้ให้มากขึ้น ทำให้ขณะนี้ กลุ่มทอผ้าไหมทุกอำเภอของจังหวัดมหาสารคาม ต่างก็หันมาผลิตผ้าไหมลายสร้อยดอกหมากกันมากขึ้น

กลุ่มทอผ้าไหมบ้านกุดรัง นอกจากผลิตภัณฑ์ผ้าไหมมัดหมี่ลายสร้อยดอกหมากอันลือชื่อ  ยังมีผ้าฝ้ายลายสร้อยดอกหมาก ผ้าไหมมัดหมี่ลายทั่วไป ปัจจุบันทางกลุ่มได้นำผ้าไหมที่ทอมาตัดเย็บเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น เสื้อสูตรชายและหญิงลายสร้อยดอกหมาก เสื้อสูตรชายและหญิงพื้นเรียบ ผ้าห่ม ผ้าขาวม้า ซึ่งล้วนแต่น่าสนใจ

ประวัติความเป็นมา

ผ้าไหมมัดหมี่ลายสร้อยดอกหมาก เป็นลวดลายผ้าโบราณลายดั้งเดิมของท้องถิ่นอีสาน เป็นลายเก่าแก่ของบรรพบุรุษซึ่งชาวบ้านในแถบภาคอีสานโดยเฉพาะ จ. มหาสารคาม มีการทอใช้กันมาก ต่อมา จ. มหาสารคาม จึงได้กำหนดให้ “ผ้าไหมมัดหมี่ลายสร้อยดอกหมาก” ให้เป็น “ลายผ้าเอกลักษณ์ประจำจังหวัด”

แต่เดิมชาวบ้านแถบ จ. มหาสารคาม ทอผ้าลายโบราณตามแบบบรรพบุรุษอยู่หลายลายด้วยกัน แต่ภายหลังลายเก่าแก่เหล่านี้ก็เริ่มสูญหายไปจากชีวิตการทอผ้าของชาวบ้าน เนื่องจากความยากในการทอ ลายสร้อยดอกหมากก็เป็นลายผ้าโบราณลายหนึ่งที่เกือบจะสูญหายไปจากท้องถิ่น ด้วยความที่ลายผ้ามีความละเอียดมาก ผู้ทอต้องมีความรู้ในเรื่องของลายและมีฝีมือทั้งในการมัดและการทอ ถ้าไม่มีความชำนาญ การย้อมสีอาจไม่สม่ำเสมอ ทำให้ลายผ้าผิดเพี้ยนไป นอกจากนี้ต้องใช้ระยะเวลาในการทอมาก จึงเป็นสาเหตุให้ชาวบ้านไม่นิยมทอผ้าลาย “สร้อยดอกหมาก”

ผ้าไหมมัดหมี่ สอดสารคาม กลุ่มผาสารทแก้ว ผ้าทอโบราณ บ้านหนองผง ต. ดงยาง อ. นาดูน  จ. มหาสารคาม

เอกลักษณ์ความโดดเด่นของผ้า

ภาคอีสานมีพื้นที่ ๒๐จังหวัด ประกอบด้วยกลุ่มชนชาติพันธุ์ต่าง ๆ มากกว่า ๒๐ ชาติพันธ์ ส่วนมากเป็นกลุ่มชนชาวไทยเชื้อสายไท-ลาว ที่คนไทยภาคอื่นมักเรียกว่า  ลาว  เป็นกลุ่มชาติพันธ์ใหญ่ที่สุดของภาคอีสาน ด้วยความรักผ้าโบราณอีสาน ผ่านการ สะสม ศึกษา งานเขียน งานวิจัย บรรยาย และการลงพื้นสอบถาม สัมภาษณ์คลุกคลีทำให้ทราบความเป็นมา ได้เห็นถึงประวัติศาสตร์ที่เชื่อมโยง ของผ้าแต่ละพื้นถิ่น ได้เห็นถึงการสร้างลวดลาย เทคนิคการทอ อันเป็นอัตลักษณ์ที่มีความแตกต่าง ระยะเวลาผ่านมาเป็นทำให้ผ้าที่มีลวดลาย เทคนิคอย่างโบราณได้สูญหายไปเพื่อสืบทอดภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ ให้คงอยู่คู่กับแผ่นดิน จึงได้รวมกลุ่มฟื้นฟูการทอผ้าลายโบราณ โดยใช้เทคนิค วัสดุ การลวดลาย และขนบของผ้าทออีสาน ภายใต้ชื่อ “ผาสาทแก้ว” ผาสาท เป็นคำอีสานโบราณ ปราสาทราชวัง ผาสาท หมายถึง เรือนที่มีหลังคาเป็นยอดแหลม ซึ่งเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ และสิ่งสักสิทธิ์ เรียก หอผาสาท ซึ่งผาสาท พบเห็นในผ้าโบราณ ทั้งเทคนิคขิด และเทคนิคมัดหมี่ “ผาสาทแก้ว” จึงมีความหมายโดยรวมว่า “สถานที่สถิตความดีงาม ซิ่นไหมหมี่สอด สารคาม มรดกภูมิปัญญาที่หายไป 40 ปี

ที่ตั้งและการติดต่อ

กลุ่มทอผ้าผาสาทแก้ว ผ้าทอโบราณ

ที่ตั้ง: 28 ม. 8 ต. ดงยาง  อ. นาดูน จ. มหาสารคาม

ติดต่อ: นายณกรณ์ ตั้งหลัก (ประธานกลุ่ม)

โทรศัพท์: 09 4285 0995

ลักษณะและลวดลายการทอหรือการผลิต

ซิ่นไหมหมี่สอดสารคาม เป็นเทคนิคการทอที่พบแห่งเดียวในภาคอีสาน และเป็นอัตลักษณ์เดียวในประเทศ คือเทคนิคสอด(เกาะล้วง) ขนานกับลำตัว ต่างจากซิ่นไทลื้อที่ขวางลำตัว  มีเอกลักษณ์ แบบอย่างซิ่นสตรีอีสานโบราณ อันประกอบด้วย หัวซิ่น ตัวซิ่น ตีนซิ่น  โดยมีหลักฐานจากผ้าโบราณ คำบอกเล่าของคนในชุมชน และอนุมารรูปสตรีนุ่งห่มซิ่นลักษณะลวดลายคล้ายกับหมี่สอด ณ ฮูปแต้มสิมโบราณ วัดบ้านยาง อ. บรบือ จ. มหาสารคาม เอกลักษณ์การทอผ้าที่สำคัญของซิ่นสอดสารคาม 3 เทคนิค คือ เทคนิค สอด หรือ เกาะล้วง (Tapestry Weaving)  สอด เป็นการใช้ลักษณะการทอ สอดเส้นพุ่งเกาะกันไปเรื่อย ๆ สลับกับเหยียบตะกอขึ้นเส้นใหม่จนกว่าจะครบลาย เทคนิคขิด (Continuous Supplementary Weft) คือ การสะกิดเส้นยืนแทรกเส้นพุ่งพิเศษเข้ามา และ เทคนิคมัดหมี่ มัดหมี่ (Weft Ikat) คือ การมัดลวดลายที่เส้นพุ่งก่อนนำไปย้อมสี ก่อนนำไปทอเป็นผืนผ้า  ซึ่งทั้ง 3 เทคนิคเป็นเทคนิคที่มีความยุ่งยากซับซ้อน ผสมกับการทอแต่ทำให้เกิดลวดลายและสีสันที่งดงามแปลกตา และเป็นอัตลักษณ์อันโดดเด่นแตกต่างจากผ้าซิ่นมัดหมี่อีสานทั่วไป

ซิ่นสอดสารคาม เป็นการผสาน 3 เทคนิค เข้าด้วยกัน คือ สอดขิดมัดหมี่ โดยช่างทอต้องมีทักษะในการทอทั้ง 3 ชนิดนี้ โดยจะเริ่มจากการเตรียมเส้นไหมพันธุ์พื้นบ้านแท้ สาวลงกระบุง ลอกกาวด้วยด่างธรรมชาติ ตีเกียวเส้นไหม ย้อมสีด้วยธรรมชาติต่าง ๆ เตรียมเส้นยืนด้วยโทนสีเข้า เตรียมเส้นพุ่ง แบ่งเป็นสอด ด้วยการคุบควบเส้นไหม 3 เส้นขิด ด้วยไหมขาว มัดหมี่ นำไหมขาวมามัดแล้วโอบย้อม นำเส้นไหมที่เตรียมไว้มา สอด เป็นเส้นพุ่งหลายๆ สีเป็นช่วง ๆ เกี่ยวเส้นไหมเป็นห่วง รอบเส้นยืน ไปเป็นช่วงตามจังหวะจนจบลวดลาย สลับการทอขิด เป็นการคั่นลายโดยการสะกิดเส้นยืนขึ้นตามจังหวะของลวดลาย สอดกระสวยไหมสีเว้นสับหว่างการทอ สอดกระสวยมัดหมี่ที่เตรียมไว้ ทำเช่นนี้ไปจนเสร็จ

ผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงหรือโดดเด่น

ผลิตภัณฑ์ที่สร้างชื่อเสียง ได้แก่ ผ้าไหมมัดหมี่ลายโบราณ ไหมพันธุ์ไทยพื้นบ้านย้อมสีธรรมชาติ, ซิ่นขิดไหมอัญญาแม่เมืองมหาสารคาม และซิ่นไหมหมี่สอด สารคาม

รางวัลที่ได้รับ 

2561 รับโล่พระราชทาน รางวัลชนะเลิศผ้าไหมมัดลายโบราณ นกยูงพระราชทานสีทอง กรมหม่อมไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

2561 รับโล่รางวัล รองชนะเลิศอันดับ2 ผ้าคลุมไหล่ นกยูงพระราชทานสีทอง กรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

2562 รับโล่พระราชทาน รางวัลชนะเลิศผ้าอาเซียน ประเภทผ้าขิดไหม กรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

2562 รับรางวัลชมเชยผ้าอาเชียน ประเภทผ้าเทคนิคผสม กรมหม่อนไหมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์