ผ้าไหมเก็บ บ้านเมืองหลวง  อ. ห้วยทับทัน  จ. ศรีสะเกษ

เอกลักษณ์ความโดดเด่นของผ้า

“ชุมชนบ้านเมืองหลวง” เป็นชุมชนที่มีการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมควบคู่ไปกับการทอผ้า ผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงและโดดเด่น คือ ผ้าไหมเก็บ ซึ่งเป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงทั้งด้านความสวยงามและความเป็นเอกลักษณ์ เนื่องจากผ้าไหมเก็บเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบต่อกันมาจากบรรพบุรุษสู่ลูกหลาน โดยมีการนำเอาประเพณีและวัฒนธรรมเข้ามาผสมผสานในการผลิต ผ้าไหมแต่ละผืนจึงมีคุณค่าและความหมายเป็นอย่างยิ่ง

ที่ตั้งและการติดต่อ

แหล่งผลิต :  กลุ่มผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมบ้านเมืองหลวง

ที่ตั้ง : 66/1 ม. 3 บ้านเมืองหลวง ต. เมืองหลวง อ. ห้วยทับทัน  จ. ศรีสะเกษ

โทรศัพท์ : 08 5763 4261 (คุณฉลวย ชูศรีสัตยา)

ลักษณะและลวดลายการทอหรือการผลิต

การผลิตผ้าไหมเก็บของบ้านเมืองหลวง จะทอจากกี่แบบพื้นบ้านแบบทอมือ เป็นการทอลายในตัว มีชื่อเรียกตามท้องถิ่นว่า “ผ้าเหยียบ” ซึ่งเป็นการเรียกตามขบวนการผลิต คือ วิธีการทอผ้าให้มีลายจะใช้เท้าเหยียบก้านไม้ด้านล่างกี่ทอผ้าเพื่อดึงตะกอแต่ละอันให้เกิดลาย หรือเรียกว่า “ผ้าเก็บ” คือ การสร้างลายในการทอ หรือ “ผ้าลายลูกแก้ว” เป็นชื่อลายผ้าที่มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนเล็กใหญ่ซ้อนกันเป็นจุด ๆ กระจายทั้งผืนผ้า ในส่วนของการตัดเย็บเสื้อผ้าไหมเก็บ นั้นจะใช้วิธีตัดและเย็บด้วยมือ เนื่องจากในชุมชนแห่งนี้ไม่มีการใช้จักรเย็บผ้าหรือเครื่องมือทุ่นแรงอื่น ๆ แต่เดิมผ้าไหมเก็บนิยมนำมาตัดเย็บตามแบบเสื้อพื้นบ้านของชนเผ่าส่วยเขมร และปักด้วยเส้นไหมสีสันและลวดลายต่าง ๆ ที่คนท้องถิ่นเรียกกันว่า “การแซว” กรมหม่อนไหม ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลงานด้านหม่อนไหมทั้งระบบ รวมถึงด้านการส่งเสริม พัฒนา อนุรักษ์ภูมิปัญญาด้านหม่อนไหม ได้เข้าไปมีส่วนส่งเสริม และสนับสนุนทั้งในด้านการทอ การออกแบบ ทำให้การออกแบบตัดเย็บผ้าไหมเก็บในปัจจุบันมีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ กรมหม่อนไหมยังดำเนินการเพื่อขอขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ “ผ้าไหมเก็บ บ้านเมืองหลวง” ซึ่งขณะนี้ยื่นขอขึ้นทะเบียนต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว และอยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อขึ้นทะเบียน

ผ้าไหมมัดหมี่ บ้านหัวช้าง

เอกลักษณ์ความโดดเด่นของผ้า

การทอผ้าไหมของ “กลุ่มทอผ้าไหมมัดหมี่ บ้านหัวช้าง” เริ่มต้นตั้งแต่ปีพุทธศักราชใดไม่แน่นชัด แต่โดยที่บ้านหัวช้าง อ. อุทุมพรพิสัย จ. ศรีสะเกษ แห่งนี้ เป็นชุมชนเผ่าลาว จากประวัติบอกเล่าของผู้สูงอายุในหมู่บ้าน เริ่มแรกเดิมทีจะทอผ้าไหมเป็นจำพวกผ้าไม่มีลาย เช่น ผ้าพื้น ผ้าหางกระรอก ผ้าซิ่นคั่น เป็นต้น จากนั้นได้มีวิวัฒนาการในระยะที่ 2 คือ การนำเอาเส้นไหมมาขึ้นเป็นลำเพื่อมัดหมี่ แต่จำนวนของลำไม่มาก เช่น 3 5 7 9 ลำ แล้วนำเอาวัสดุจากธรรมชาติ คือ ปอกล้วย (กาบของต้นกล้วยที่แห้ง) มารีดตากแดด แล้วนำมามัดเป็นลาย โดยสันนิษฐานว่า หมี่แรกเริ่มเดิมที คือ หมี่ข้าวสาร หมี่หมากจับ แล้วนำมาย้อมด้วยสีธรรมชาติ เช่น สีแดงจากครั่ง สีเหลืองจากเข สีฟ้าครามได้จากคราม เป็นต้น โดยทางกลุ่มเคยได้รับรางวัลชนะเลิศ จากการประกวดผ้าไหมสวยงาม ประเภทผ้าโสร่ง ในปี พ.ศ. 2527 จากนั้นจนถึงระยะปัจจุบัน ทางกลุ่มได้พัฒนาลวดลายให้มีลวดลาย สีสัน ที่หลากหลายมากขึ้น ซึ่งมีทั้งสีเคมี และสีธรรมชาติ เพื่อให้เป็นที่ต้องการของตลาด และดึงดูดลูกค้าได้หลายกลุ่ม โดยปัจจุบันทางกลุ่มได้รับการรับรองมาตรฐานตรานกยูงพระ

ที่ตั้งและการติดต่อ

แหล่งผลิต : กลุ่มทอผ้าไหมมัดหมี่ บ้านหัวช้าง

โทรศัพท์ : 084-835-3696 (คุณสิทธิศักดิ์ ศรีแก้ว)

 

ลักษณะและลวดลายการทอหรือการผลิต

ขั้นตอนการผลิต 

  1. นำผ้าไหมมาฟอกด้วยด่างเพื่อแยกกาวออกจากเส้นไหม เพื่อเตรียมย้อมเส้นยืน
  2. นำเส้นไหมที่ฟอกเสร็จแล้ว มาแยกออกเป็นสองส่วน คือ เส้นพุ่งและเส้นยืน เส้นยืนจะย้อมเป็นสีเดียว เช่น สีดำ สีม่วง เป็นต้น ส่วนเส้นพุ่งจะนำมาย้อมสีเหลือง หรือจะไม่ย้อมก็ได้ เพื่อเตรียมมัดหมี่
  3. นำเส้นพุ่งที่เตรียมไว้มากวักแล้วขึ้นลำหมี่ เพื่อมัดลายลงไป โดยแต่ละลายจะขึ้นลำไม่เท่ากัน เมื่อมัดเสร็จแล้ว จะนำไปย้อมสีต่าง ๆ ที่ต้องการแล้วนำมาโอบ เมื่อเป็นที่พอใจแล้ว นำไปล้างน้ำให้สะอาดจนสีไม่ตก เป็นอันใช้ได้

  1. เมื่อหมี่แห้งแล้ว นำมาใส่โฮงแล้วแก้เชือกฟางที่มัดลายหมี่ออก แล้วใส่กงเพื่อกวักแล้วปั่นใส่หลอดสำหรับไว้ทอต่อไป
  2. ในส่วนของเส้นยืน นำมากวักแล้วนำมาขึ้นเส้นยืน โดยทำการค้นใส่หลักเฝือ โดยความยาวแล้วแต่จะกำหนด ในที่นี้ต้องคำนวณเส้นไหมด้วยว่าจะพอสำหรับฟืมทอหรือไม่
  3. นำเส้นยืนที่ค้นเสร็จแล้วไปสืบกับฟืม เมื่อเสร็จแล้วนำขึ้นกี่ทอผ้า แล้วนำเส้นพุ่งที่ปั่นไว้ใส่กระสวยและทอเป็นผืน ขนาดความยาวตามที่ต้องการ (มาตรฐาน 1 ผืน = 2 เมตร)

ผ้าไหม ชุมชนท่องเที่ยวบ้านตระกวน

เอกลักษณ์ความโดดเด่นของผ้า

สมัยก่อนผู้เถ้าผู้แก่ท่านเล่าว่าไม่มีเสื้อผ้าใส่ ต้องหาใบไม้มาปิดบังร่างกาย ต่อมาได้นำเอาผลฝ้ายมาผ่านการปั่นจนเป็นเส้น แล้วนำมาทอใส่กันจนเป็นผ้า จนกระทั้งมาพบตัวไหมที่มีใยเหนียวทำเป็นรังและชอบกินใบหม่อน และมีความทนกว่าผ้าฝ้าย นำมาตัดเป็นเสื้อหรือผ้า และทำลายต่าง ๆ โดยย้อมสีธรรมชาติจาก แก่นขนุน เปลือกไม้ประดู่ มะเกลือ เป็นต้น ต่อมาจึงมีการคิดค้นลวดลายต่าง ๆ ตามท้องถิ่นและชนเผ่า ชุมชนบ้านตระกวน เป็นชุมชนเผ่าเขมรติดกับประเทศกัมพูชา ใช้ภาษาเขมรในการสื่อสาร มีปราสาทโบราณ เช่น เขาพระวิหาร จึงคิดค้นผ้าเป็นลายโบราณโดยนำลักษณะภูมิศาสตร์ต่าง ๆ ของชนเผ่ามาเป็นผ้าไหมมัดหมี่ตามสถานที่ที่ตั้งนั้น ดังนั้นผ้าลายต่าง ๆ จึงมีความหมายต่อสถานที่และมีความหมายต่อชนเผ่าเขมร

ที่ตั้งและการติดต่อ

แหล่งผลิต : ชุมชนท่องเที่ยวบ้านตระกวน

ที่ตั้ง : ม. 3 ต. พิงพวย อ. ศรีรัตนะ จ. ศรีสะเกษ ห่างจาก อ. ศรีรัตนะ ประมาณ 7 กิโลเมตร

โทรศัพท์ : สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ชุมชนบ้านตระกวน โทร. 091 834 1195 หรือที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานสุรินทร์ โทร 044 514 447

ผ้าไหม / ผ้าโทเร กลุ่มพัฒนาสตรีทอผ้า บ้านโพธิ์สามัคคี

เอกลักษณ์ความโดดเด่นของผ้า

“บ้านโพธิ์สามัคคี” มีประวัติศาสตร์การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมทอผ้ามากว่า 66 ปี นับตั้งแต่การนำต้นหม่อนมาปลูก นำไหมเข้ามาเลี้ยง และเกิดการทอผ้าขึ้น ซึ่งมีเส้นทางสายประวัติศาสตร์การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและทอผ้าไหมมีรายละเอียดดังนี้

  • พ.ศ. 2430 ก่อตั้งหมู่บ้านมีการทอผ้าฝ้าย เข็ญฝ้าย ทอเป็นผ้าและเย็บเป็นเครื่องนุ่งห่มในครัวเรือน โดยมีการปลูกฝ้ายทุกหลังคาเรือน
  • พ.ศ. 2495-2499 เริ่มมีการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมควบคู่ไปกับการทอผ้าฝ้าย ในยุคแรก ๆ มีการใช้ที่ทอผ้าแบบเรียบง่าย โดยใช้เสา 4 ต้น ปักลงดิน เรียกว่า “กี่ 4 เสา” แรงจูงใจที่ทำให้หันมาปลูกหม่อนเนื่องจากต้องการผลิตเส้นไหมเพื่อนำมาทอผ้าไหม เพราะเห็นว่า ผ้าไหมมีความสวยงาม คงทนกว่าผ้าฝ้าย มีเนื้อที่นุ่มใส่ได้ทุกฤดูกาล ในงานประเพณีสำคัญต่าง ๆ คนกลุ่มแรกที่นำต้นหม่อนและการเลี้ยงไหมเข้ามา ได้แก่ 1. นางจันทร์ บุญประกอบ 2. นางอ้วน สุภาทิพย์ 3. นางใส ทองภาพ 4. นางเตื้อ รัตนวรรณ 5. นางลา บุญประกอบ 6. นางดำ บุญประกอบ 7. นางยา บุญประกอบ โดยได้นำพันธุ์มาจากบ้านหว้าน, บ้านขี้นาค
  • พ.ศ. 2501-2520 ยังมีการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมควบคู่ไปกับการทอผ้าฝ้าย โดยเริ่มมีการปลูกหม่อนมากขึ้นในช่วงนี้ เพราะขั้นตอนการผลิตง่ายกว่า ไหมราคาดีกว่า และเส้นใหม่จะมีความเหนียวแน่นมากกว่าเส้นฝ้าย สวมใส่สบายกว่าผ้าฝ้าย การปลูกต้นหม่อนปลูกง่ายไม่ต้องดูแลมากนัก จึงมีครัวเรือนที่ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมจำนวน 26 ครัวเรือน
  • พ.ศ. 2521-2533 มีผลกระทบจากเสื้อผ้าสำเร็จรูป เริ่มหาซื้อง่ายขึ้น สะดวก ทำให้ผู้ที่ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ทอผ้าไหม ทอผ้าฝ้าย น้อยลง ผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ทอผ้าฝ้าย มีจำนวน 23 ครัวเรือน ในปี พ.ศ 2528-2529 สำนักงานพัฒนาชุมชนได้เข้ามาส่งเสริมให้กลุ่มแม่บ้านทอผ้าไหมหันมาทอผ้าด้วยกี่กระตุก โดยมีการฝึกอบรมการทอผ้าด้วยกี่กระตุก รายได้มีการระดมทุนการซื้อกี่กระตุกจำนวน 5 หลัง ใช้ทอผ้าได้ 3 ปี เพราะเครื่องมือชำรุด คนทอก็เริ่มมีอายุมากขึ้น ทำให้ไม่ได้ทอต่อ เริ่มมีการนำด้ายโทเรมาขายในท้องตลาด ทำให้จำนวนคนทอผ้าฝ้ายและทอผ้าไหมลดลง
  • พ.ศ 2534-2545 ในช่วงนี้มีผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ทอผ้าไหมจำนวน 23 ครัวเรือน ไม่มีการทอผ้าฝ้ายแล้ว แต่มีการทอผ้าโทเรแทน เครือใช้ทอเป็นไหมพรม ซึ่งต้องเดินทางไปซื้อถึง อ. วารินชำราบ จ. อุบลราชธานี เนื่องจากเส้นไหมไม่เพียงพอต่อการใช้ทอ บางคนต้องสะสมเส้นใหม่ของตนเองถึง 2 ปี จึงจะเพียงพอต่อการทอ 1 เครือ ในช่วงนี้เริ่มมี “กี่ตั้ง” ในหมู่บ้าน เป็นของนางก่อง สุภาทิพย์ นำมาจากบ้านไฮเลิง ซึ่งถือเป็นคนแรกที่มีกี่ตั้งในชุมชน
  • พ.ศ 2546-2550 มีผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมทอผ้าไหมจำนวน 15 ครัวเรือน ซึ่งนับว่าลดจำนวนลงกว่าช่วงก่อนหน้านี้ สาเหตุเพราะผู้ที่ทอผ้าไหมส่วนใหญ่ย่างสู่วัยชรา สายตาเริ่มฟ่าฟาง ประกอบกับมีภาระต้องดูแลหลานที่พ่อแม่เอามาฝากให้เลี้ยง จึงทำให้เวลาที่จะอยู่กับงานไหมน้อยลง ต่อมาในปี พ.ศ. 2547 กลุ่มพัฒนาสตรีทอผ้าไหม บ้านโพธิ์สามัคคี ได้รับการสนับสนุนจากพัฒนาชุมชนให้ส่งผ้าไหมเข้าร่วมการคัดสรรในโครงการสุดยอดหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ OTOP ผลปรากฏว่า ผ้าไหมบ้านโพธิ์สามัคคีได้รับการคัดเลือกให้เป็นสินค้าโอทอประดับ 2 ดาว (ผ้าไหมมัดหมี่) ต่อมาในปี พ.ศ. 2549 ผ้าพื้นเรียบได้รับการคัดสรรให้เป็นสินค้า OTOP ระดับ 3 ดาว ส่วนผ้าทอมีลายขัดพื้นฐานและผ้าหางกระรอกได้รับการรับรองจากสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรมอนุญาตให้แสดงเครื่องหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน และในปี พ.ศ. 2551/2552 ผ้าพื้นเรียบได้ยกระดับขึ้นเป็น 4 ดาว ในช่วงเวลานี้ชุมชนยังใช้กี่ 4 เสา และกี่ตั้งกันอยู่
  • พ.ศ. 2551-2560 มีผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมทอผ้าไหมลดลงเหลือ 8 ครัวเรือน เนื่องจากบุคลากรที่เคยทอผ้าต่างเลิกรากันไป หลายคนประสบปัญหาด้านสายตาและภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบเพิ่มขึ้น อีกทั้งขาดการสานต่อจากคนรุ่นใหม่ ทำให้ภูมิปัญญาด้านนี้หดหายไป ในปี พ.ศ. 2558-2559 บ้านโพธิ์สามัคคีได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานเกษตรอำเภอ ภายใต้โครงการแผนพัฒนาอาชีพเกษตรกรตามความต้องการของชุมชนเพื่อบรรเทาภัยแล้ง ดำเนินงานโดยกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรทอผ้าบ้านโป่ง ซึ่งได้กระจายงานทอผ้าไปยังหมู่บ้านต่าง ๆ ใน ต. พิมายเหนือ โดยจัดสรรงบประมาณ 30,000 บาท ให้กับกลุ่มพัฒนาสตรีบ้านโพธิ์สามัคคี ต่อมาในปี พ.ศ. 2560 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) การวิจัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ได้อนุญาตงบประมาณ 30,000 บาท ให้กับทีมวิจัยบ้านโพธิ์สามัคคี เพื่อให้ดำเนินงานวิจัยตามที่ตั้งจดไว้ ในหัวข้อการผลิตเส้นไหมเพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชนบ้านโพธิ์สามัคคี ซึ่งมีนายถิระโรจน์ จารุรัศมีวงศ์ เป็นหัวหน้าทีม โดยเริ่มงานวิจัยในเดือนกันยายน 2560 เป็นต้นมา
  • ปี พ.ศ. 2561 หลังจากทำการวิจัยได้ระยะหนึ่ง ผลปรากฏว่ามีผู้สนใจเข้าร่วมปลูกหม่อนเลี้ยงไหมทอผ้าไหมเพิ่มขึ้น โดยได้แนวร่วมในการปลูกหม่อนจำนวน 28 ครัวเรือน เลี้ยงไหม-ทอผ้าจำนวน 3 ครัวเรือน และทอผ้า 9 ครัวเรือน

ที่ตั้งและการติดต่อ

แหล่งผลิต : กลุ่มพัฒนาสตรีทอผ้า บ้านโพธิ์สามัคคี

ที่ตั้ง : 106 โพธิ์สามัคคี หมู่ 8 ต. พิมายเหนือ อ. ปรางค์กู่ จ. ศรีสะเกษ สามารถเดินทางเข้าสู่ตำบลได้โดยใช้เส้นทางถนนสายปรางค์กู่-อุทุมพรพิสัย เป็นตำบลที่มีพื้นที่ติดกับ อ. ปรางค์กู่

โทรศัพท์ : 08 4826 0521 (นางบุษบง บุตรดี)