ผ้าย้อมคราม ร้านครามสกล จ. สกลนคร

เอกลักษณ์ความโดดเด่นของผ้า

ประวัติ ความเป็นมา ผ้าฝ้ายย้อมครามเป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ที่ได้รับการถ่ายทอดกันมาแต่ครั้งปู่ ย่า ตา ยาย โดยการทอผ้าด้วยมือไว้ใช้เอง และเป็นเอกลักษณ์ของชาวภูไท บ้านนายาง ซึ่งเรียกว่า “ผ้าฝ้ายย้อมคราม” ซึ่งแต่เดิมจะเย็บด้วยมือ เป็นเสื้อผ้าสวมใส่สำหรับผู้หญิง ส่วนผู้ชายจะทอเป็นผ้าขาวม้าใส่นุ่งแบบโจงกระเบนหรือผ้าเตี่ยว  ต่อมาในปัจจุบันเกิดการรวมกลุ่มทอผ้าย้อมสีธรรมชาติขึ้น เพื่อทอผ้าจำหน่ายเป็นรายได้เสริมจุนเจือครอบครัวอีกทางหนึ่ง

ที่ตั้งและการติดต่อ

แหล่งผลิต : ร้านครามสกล

ที่ตั้ง : 212 ต. ห้วยยาง อ. เมือง จ. สกลนคร

โทรศัพท์ : 08 0582 6655

ลักษณะและลวดลายการทอหรือการผลิต

ขั้นตอนการผลิต วัตถุดิบการทอผ้าย้อมคราม ฝ้ายได้จากนวลของดอกฝ้ายที่บานเต็มที่ นำมากรอหรือเข็นเป็นเส้นฝ้าย ก่อนนำไปย้อมด้วยน้ำคราม และนำมาทอเป็นผ้า สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน

การเตรียมสีครามและย้อมสีครามมีเทคนิคพิเศษกว่าการย้อมสีธรรมชาติอื่น ๆ เริ่มตั้งแต่การเลือกใบครามอายุพอดีและอยู่ในสภาพใบสด ดังนั้นจะต้องเก็บใบครามอายุประมาณ 3-4 เดือน ในตอนเช้ามืดก่อนน้ำค้างแห้ง และนำมาแช่น้ำให้ท่วมใบครามพอดีทันที แช่ไว้ประมาณ 10-12 ชั่วโมง จึงกลับใบครามข้างล่างขึ้นทับส่วนบน แช่ต่อไปอีก 10-12 ชั่วโมง ใบครามจะถูกสลาย (hydrolyse) ให้สีคราม (indoxyl) ออกมาอยู่ในน้ำครามได้มากที่สุดในเวลาที่เหมาะสมเท่านั้น ได้น้ำครามใส สีฟ้าจาง จึงแยกกากใบครามออก

ในขั้นตอนของการย้อมครามจะมีส่วนผสมอื่น ๆ ขั้นตอนการย้อมที่สืบทอดกันมาแต่อดีตเพื่อให้ได้ผ้าครามที่สีสวยและสีไม่ตก หลังจากนั้นก็นำเส้นฝ้ายลงย้อม จะได้เส้นฝ้ายสีฟ้าครามสวยงามสีไม่ตก หรือหากต้องการผ้าฝ้ายที่มีลวดลายต่าง ๆ จะต้องผ่านขั้นตอนของการมัดเพื่อให้ได้ลายที่ต้องการ จะมีทั้งลายที่คิดขึ้นใหม่ ลายที่สืบทอดกันมา หรือลายที่ประยุคผสมผสานกัน เรียกขั้นตอนนี้ว่าการมัดหมี ซึ่งจะต้องใช้ความชำนาญอย่างมาก จึงจะได้ ผ้าย้อมคราม ที่สีสวยธรรมชาติ

เมื่อได้เส้นผ้าฝ้ายแล้วจึงจะนำมาเข้าขั้นตอนการทอ ซึ่งผ้าย้อมครามของบ้านก้างปลาใช้วิธีการทอมือที่สืบทอดกันมารุ่นสู่รุ่น ถือได้ว่าเป็นมรดกทางภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมายาวนาน

 

ผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงหรือโดดเด่น

ผ้าพื้นเมือง ผ้าคลุมไหล่ ผ้าปูโต๊ะ ผ้าพันคอ ผ้ามัดหมี่ และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ

ผ้าย้อมมูลควาย กลุ่มก็ฝ้ายบ้านนาเชือก ต.แร่ อ.พังโคน จ.สกลนคร

เอกลักษณ์ความโดดเด่นของผ้า

จากผลกระทบของการสร้างเขื่อนน้ำอูน อ. พังโคน จ. สกลนคร ทำให้ชาวบ้านบ้านนาเชือก กลายเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง จนต้องอพยพมาตั้งบ้านเรือนอยู่ในพื้นที่ที่ดินไม่อุดมสมบูรณ์และไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าว และจำเป็นต้องอพยพโยกย้ายถิ่นฐานไปเป็นแรงงานในจังหวัดต่าง ๆ รวมถึงต่างประเทศในแถบตะวันออกกลาง

หลังเกิดเหตุการณ์ฟองสบู่แตก ในปี พ.ศ. 2540 ชาวบ้านนาเชือก อ. พังโคน จ. สกลนคร จึงต้องกลับคืนสู่ถิ่นฐานบ้านเกิดและประกอบอาชีพเสริมเพิ่มขึ้น เนื่องจากผลผลิตจากภาคการเกษตรนั้นได้ผลผลิตต่ำ

เป็นธรรมดาเมื่อชาวบ้านหมดหนทางในการทำมาหากิน รายได้ขาดมือ ก็ต้องหันหน้าเข้าหา “วัด” ซึ่งวัดในชุมชนนี้ถือว่าแตกต่างจากวัดทั่วไป เพราะมีพระสงฆ์อย่าง พระอาจารย์ฉัฐกรณ์ มหาภิญโญภิกขุ แห่งวัดป่าภูมิธนารักษ์ธรรมาราม อ. พังโคน จ. สกลนคร ที่เป็นทั้งนักคิดและนักพัฒนา ที่เน้นให้ชาวบ้านพึ่งตนเองเป็นสำคัญ
สำหรับชาวบ้านนาเชือกเดิมส่วนใหญ่ยึดอาชีพรับจ้างทอผ้าส่งตามโรงงาน อย่างผ้าขาวม้า ซึ่งรายได้ไม่ค่อยสมดุลกับรายจ่ายนัก จึงคิดหาอาชีพเสริมโดยมองไปที่งานหัตถกรรม เนื่องจากมีผู้หญิงในหมู่บ้านจำนวนมากที่อาจหาเวลาว่างจากการเลี้ยงลูกมาทำงานเสริมได้

ด้วยเหตุนี้ นางสายสุนีย์ ไชยหงสา และชาวบ้าน จึงเดินทางไปกราบขอคำแนะนำจากพระอาจารย์ฉัฐกรณ์ฯ ท่านได้แนะนำให้ทำผ้าย้อมสีธรรมชาติ จึงได้มีการตั้งกลุ่ม “ทอผ้าย้อมสีธรรมชาติบ้านนาเชือก” ขึ้น โดยมีพระอาจารย์คอยให้คำปรึกษา ขณะที่ชาวบ้านจะคอยแจ้งความคืบหน้าโดยตลอด
ช่วงแรกชาวบ้านที่นี่ได้ทำผ้าย้อมสีธรรมชาติจากเปลือกไม้ ทำให้พระอาจารย์ติงไปว่า “การนำเปลือกไม้มาย้อมผ้าต้นไม้ไม่ตายหรือ ?”

ชาวบ้านตอบว่า “ไม่น่าตายนะ”

พระอาจารย์เมื่อได้ยินดังนั้นจึงตั้งคำถามเปรียบเทียบว่า “ถ้ามีใครมาลอกผิวหนังของโยม โยมจะตายไหม”

ประโยคนั้นทำให้ชาวบ้านคิดได้ และเริ่มมองหาวัตถุดิบอื่นมาย้อมผ้าแทนซึ่งมีความแตกต่างและไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพราะการใช้เปลือกไม้ก็ต้องทำลายต้นไม้ นั่นจึงกลายมาเป็นการทำผ้าย้อมขี้ควายหรือมูลควายในเวลาต่อมา

แต่เดิมคนในชุมชนประกอบอาชีพเลี้ยงสัตว์และการทอผ้า การย้อมผ้าด้วยสีธรรมชาติ ซึ่งมีการพัฒนามาเป็น “ผ้าย้อมมูลควาย” มีสีสันแปลกตา แต่ลักษณะของสีผ้ายังไม่มีความสม่ำเสมอ มทร. อีสาน วิทยาเขตสกลนคร จึงหยิบเอาอัตลักษณ์ของบ้านนาเชือกและขอการสนับสนุนจากสำนักงานปลัด กระทรวงวิทยาศาสตร์ มาพัฒนาผลิตภัณฑ์จากผ้าย้อมมูลควาย จนกลายเป็นหมู่บ้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในปี 2553 ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการทำผลิตภัณฑ์ผ้าย้อมมูลควาย โดยกลุ่ม “ก็ฝ้าย” จนมีชื่อเสียงและได้รับคัดเลือกให้เป็นผลิตภัณฑ์ Unseen Thailand ในปี พ.ศ.2556

 

ที่ตั้งและการติดต่อ

แหล่งผลิต : กลุ่มก็ฝ้ายบ้านนาเชือก  ต.แร่  อ.พังโคน  จ.สกลนคร

โทรศัพท์ : 087  222  5256

ลักษณะและลวดลายการทอหรือการผลิต

ขั้นตอนการผลิต ในส่วนกระบวนการผลิตผ้าย้อมมูลควาย ประกอบด้วย เส้นด้ายหรือเส้นฝ้าย สีย้อมฝ้ายหรือย้อมด้าย ที่มาจากสีธรรมชาติ อาทิเช่น มูลควาย เปลือกไม้ และดิน โดยนำเส้นฝ้ายมาตรวจสอบความเหมาะสมและทำความสะอาด

หลังจากนั้นจึงนำเส้นฝ้ายไปย้อมสีตามต้องการ และนำมาทำความสะอาดโดยการซักล้างให้สีที่ตกค้างออกไป แล้วนำไปผึ่งให้แห้ง ขั้นตอนต่อมา คือ การนำมาปั่นเข้าหลอดเพื่อนำไปเป็นเส้นพุ่งในการทอ ส่วนที่หนึ่งนำไปเข้าหลักเฝือ ตามขนาดที่ต้องการของความกว้างยาวของเส้นยืน แล้วจึงนำเส้นด้ายไปต่อเข้าฟืมและนำเข้ากี่เพื่อทำการทอต่อไป

ผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงหรือโดดเด่น

ปัจจุบันผ้าย้อมมูลควายบ้านนาเชือกกลายเป็นผลิตภัณฑ์สร้างชื่อเสียงและสร้างรายได้ให้กับสมาชิก พร้อมการจัดแสดงสินค้าตามหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ งาน OTOP งานนิทรรศการที่จังหวัดจัด ซึ่งเป็นช่องทางหนึ่งในการสร้างรายได้ให้กับชุมชน ด้วยผลิตภัณฑ์มากมาย อาทิเช่น ผ้าคลุมไหล่ ผ้าพันคอ หมวก เสื้อ ที่นอนเพื่อสุขภาพ กระเป๋า รวมถึงตุ๊กตาควายที่ถือเป็นสัญลักษณ์ของผ้าย้อมมูลควายบ้านนาเชือกอีกด้วย