ประวัติความเป็นมา
บ้านท่าสว่าง เป็นหมู่บ้านที่ได้รับการยกย่องว่า “ทอผ้าไหมหนึ่งพันสี่ร้อยสิบหกตะกอ” เมื่อครั้งทอผ้ายกทองทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จากการริเริ่มของกลุ่มทอผ้ายกทอง “จันทร์โสมา” ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีการอนุรักษ์และฟื้นฟูการทอผ้ายกทองชั้นสูงแบบราชสำนักไทยโบราณ โดยมี อาจารย์วีรธรรม ตระกูลเงินไทย เป็นแกนนำและเป็นผู้รวบรวมชาวบ้านท่าสว่างมารวมกลุ่มกันทำงานทอผ้ายามว่างจากงานไร่งานนา
เอกลักษณ์ความโดดเด่นของผ้า
ด้วยการออกแบบลวดลายที่สลับซับซ้อนงดงามและศักดิ์สิทธิ์ ผสมผสานกันระหว่างลวดลายการทอแบบราชสำนักกับเทคนิคการทอผ้าแบบพื้นบ้าน จนกลายเป็นผ้าทอที่มีความงดงามอย่างมหัศจรรย์และมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก ผลงานที่โดดเด่นของที่นี่ คือ การได้รับการคัดเลือกจากรัฐบาลให้ทอผ้าสำหรับตัดเสื้อผู้นำและผ้าคลุมไหล่สำหรับคู่สมรสผู้นำ 21 เขตเศรษฐกิจที่มาร่วมประชุมผู้นำเอเปกเมื่อปลายปี 2546 จนเป็นที่รู้จักกันอย่างดีในชื่อ “หมู่บ้านทอผ้าเอเปก” และได้เป็น OTOP ระดับ 5 ดาว ของประเทศ
ที่ตั้งและการติดต่อ
แหล่งผลิต : กลุ่มทอผ้ายกทอง จันทร์โสมา บ้านท่าสว่าง อ. เมือง จ. สุรินทร์
โทร. 08 9202 7009, 0 4455 8489-90
ลักษณะและลวดลายการทอหรือการผลิต
ผ้าไหมยกทองโบราณ เกิดจากการเลือกเส้นไหมน้อยที่เล็กและบางเบานำมาผ่านกรรมวิธีฟอก ต้ม แล้วย้อมสีธรรมชาติด้วยแม่สีหลักสามสี คือ สีแดงจากครั่ง สีเหลืองจากแก่นแกแล และสีครามจากเมล็ดคราม สอดแทรกการยกดอกด้วยไหมทองที่ทำจากเงินแท้ มารีดเป็นเส้นเล็ก ๆ ปั่นควบกับเส้นด้าย ใช้ตะกอเส้นพุ่งพิเศษที่ทำให้เกิดลายจำนวนตะกอมากกว่าร้อยตะกอ จนกระทั่งการวางกี่บนพื้นดินธรรมดามีความสูงไม่พอ ต้องขุดดินบริเวณนั้นให้เป็นหลุมลึกไป 2-3 เมตร เพื่อรองรับความยาวของตะกอที่ห้อยลงมาจากกี่ให้เป็นระเบียบ ให้คสามารถอยู่ในหลุมเพื่อสอดตะกอไม้ได้ด้วย เนื่องจากไม้ตะกอมีจำนวนมาก จึงต้องใช้คนทอถึง 4-5 คน คือ จะมีคนช่วยกตะกอ 2-3 คน คนสอดไม้ 1 คน และคนทออีก 1 คน และความซับซ้อนทางด้านเทคนิคการทอ ทำให้ได้ผลงานเพียงวันละ 6-7 ซม. เท่านั้น
ผ้าไหมสุรินทร์ บ้านท่าสวาย
เอกลักษณ์ความโดดเด่นของผ้า
จ.สุรินทร์เป็นจังหวัดหนึ่งที่มีวัฒนธรรมการทอผ้าไหมมานานและได้สืบทอดเป็นมรดกทางวัฒนธรรมมานาน จนเป็นเอกลักษณ์ของตนเองที่น่าสนใจยิ่งหากศึกษาอย่างลึกซึ่งแล้ว จะค้นพบเหตุผลหลายประการที่สนับสนุนว่า จ.สุรินทร์ มีเอกลักษณ์เฉพาะของตนเองในเรื่องผ้าไหม ตลอดจนประเพณีวัฒนธรรมต่าง ๆ ซึ่งส่งผลต่อการผลิตและการทอ ไม่ว่าจะเป็นลวดลายของผ้าไหม การผลิตเส้นไหมน้อย และกรรมวิธีการทอ จ.สุรินทร์ นิยมนำเส้นไหมขั้นหนึ่งหรือไหมน้อย (ภาษาเขมร เรียก “โซกซัก”) มาใช้ในการทอผ้า ไหมน้อยจะมีลักษณะเป็นผ้าไหมเส้นเล็ก เรียบ นิ่ม เวลาสวมใส่จะรู้สึกเย็นสบาย นอกจากนี้การทอผ้าไหมของ จ.สุรินทร์ ยังมีกรรมวิธีการทอที่สลับซับซ้อนและเป็นกรรมวิธีที่ยาก ซึ่งต้องใช้ความสามารถและความชำนาญจริง เช่น การทอผ้ามัดหมี่พร้อมยกดอกไปในตัว ซึ่งทำให้ผ้าไหมที่ได้เป็นผ้าเนื้อแน่นมีคุณค่า มีการทอที่เดียวใบประเทศไทย จนเป็นที่สนพระราชหฤทัยและเป็นที่ชื่นชอบของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยทรงรับสั่งว่า ใส่แล้วเย็นสบาย อีกทั้งยังใช้ฝีมือในการทออีกด้วย
ที่ตั้งและการติดต่อ
แหล่งผลิต : วิสาหกิจชุมชนตลาดไหมใต้ถุนเรือน 34 หมู่ 2 บ้านตารอด ต.สวาย อ.เมือง จ.สุรินทร์ 30200
คุณ สิริญชัย ใจติก 08-7962-3472
ผ้าโฮล
ประวัติความเป็นมา
ผ้าโฮลเป็นผ้าไหมมัดหมี่ของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยเชื้อสายเขมรใน จ. สุรินทร์ ผ้ามัดหมี่โฮลถือเป็นเอกลักษณ์ของลายผ้าไหมมัดหมี่ จ. สุรินทร์ “โฮล” เป็นคำในภาษาเขมร เป็นชื่อเรียกกรรมวิธีการผลิตผ้าไหมประเภทหนึ่งที่สร้างลวดลายขึ้นมาจากกระบวนการมัดย้อมเส้นไหมให้เกิดสีสันและลวดลายต่าง ๆ ก่อน แล้วนำมาทอเป็นผืนผ้า ซึ่งตรงกับคำว่า “ผ้าปูม” ในภาษาไทย “มัดหมี่” ในภาษาลาว คำว่า “โฮล” ในภาษาเขมรสุรินทร์สมัยหลัง มีความหมายแคบลงมาอีก ใช้เรียกเฉพาะเจาะจงถึงผ้านุ่งที่สร้างจากกระบวนการมัดย้อมเส้นพุ่ง แล้วนำมาทอให้เกิดลวดลายต่าง ๆ แบบผ้าปูมของขุนนางในราชสำนักสยาม มีกรอบมีเชิงสำหรับบุรุษให้นุ่ง เรียกว่า “โฮลเปราะห์” และสตรีใช้นุ่งทอเปลงเป็นลายริ้ว เรียกว่า “โฮลแสร็ย” ปัจจุบันนี้ โฮลเปราะห์ (โฮลสำหรับผู้ชายนุ่ง) แทบหาตัวคนผลิตไม่ได้และไม่เป็นที่รู้จักกันในวงกว้างอีกต่อไป คำว่า“โฮล” ในปัจจุบันแทบจะมีความหมายตกไปอยู่ที่โฮลแสร็ย (โฮลสตรี) เกือบทั้งหมดเพราะฉะนั้นคำว่า “โฮล” โดด ๆ ในภาษาเขมรสุรินทร์ปัจจุบันจึงมีความหมายเจาะจงอยู่ในแค่ผ้าโฮลลายริ้วที่สตรีใช้นุ่งเท่านั้น คำเรียกผ้าโฮลสตรี ชนิดเดียวกันนี้ในภาษาเขมรสุรินทร์ได้เรียกปลีกย่อยออกไปอีกหลายอย่าง เช่น โฮลปันเตื๊อด (บรรทัด) โฮลปะนะ, โฮลอันลูย
ผ้าโฮลเป็นผ้าที่มีคุณภาพดีมาก เพราะการทอผ้าชนิดนี้ใช้เส้นไหมน้อย(ส่วนในสุดของเส้นไหม) ในการทอทำให้เป็นผ้าไหมมัดหมี่เนื้อแน่นเส้นไหมเล็กละเอียด เนื้อผ้าจะบางเบา เนื้อแน่น เนียน อ่อนนุ่ม ลวดลายสีสันเป็นแบบฉบับของชาวสุรินทร์ ซึ่งได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมจากศิลปะของเขมร
ลวดลายและกรรมวิธีการทอ
ผ้าโฮลเป็นผ้าไหมมัดหมี่ที่มีลักษณะเฉพาะที่โดดเด่น นิยมใช้เส้นไหมน้อยในการทอ มีการมัดย้อมเส้นพุ่งด้วยวิธีการเฉพาะเรียกว่า จนองโฮล โดยการมัดหมี่ผ้าโฮล นิยมมัดหมี่ 21 ลำ ซึ่งการมัดหมี่เพียงหนึ่งลาย สามารถทอได้ถึง 4 แบบด้วยกัน ได้แก่ (ลายโฮลผู้ชาย) ผ้าโฮลสะไรย์ (ลายโฮลธรรมดา หรือโฮลผู้หญิง) ผ้าโฮลเกียรติ และผ้าโฮลปะนะ ในการค้นลำมัดหมี่ มัดหมี่โฮลแต่ละลำจะเป็นอิสระต่อกัน การทอจะใช้เทคนิคการทอพิเศษโดยการทอผ้าให้ลายเฉียงขึ้นเรียกว่า “ปะน๊ะ” การมัดย้อม จะนิยมใช้สีธรรมชาติ และมัดย้อมหลายครั้ง ละเอียดทุกขั้นตอน การย้อมสีผ้าโฮล คือ จะต้องให้ครูทอผ้ามาสอนวิธีการย้อมเสียก่อน เพราะถือกันว่าเป็นผ้าครู ที่จะต้องผ่านกระบวนการครอบบครูเสียก่อน ผ้าโฮลมี 5 สี ได้แก่ สีดำ, แดง,เหลือง,น้ำเงิน และเขียว สีเหล่านี้ได้จากการย้อมด้วยสีธรรมชาติ เนื้อผ้ามักมี 2 สี ด้านหน้าเป็นสีอ่อน อีกด้านหนึ่งเป็นสีเข้มกว่า
ผ้าโฮลเปราะห์ ผ้าโฮลเปราะห์ (ลายโฮลผู้ชาย) เป็นผ้ามัดหมี่ของกลุ่มคนไทยเชื้อสายเขมรบริเวณอีสานใต้ มีลวดลายและสีสันต่าง ๆ กัน ใช้เป็นผ้านุ่งโจงกระเบนของผู้ชาย ในสมัยโบราณเรียก “ผ้าปูมเขมร” ราชสำนักใช้เป็นผ้าพระราชทานให้ข้าราชบริพารตามตำแหน่ง เป็นผ้าขนาดใหญ่ กว้างยาวมาก มักมีเชิง คล้ายผ้าปาโตลาของอินเดีย บางทีเรียก ผ้าสมปัก หรือ ผ้าสองปัก ภาษาเขมรหมายถึงผ้านุ่ง ซึ่งจะพระราชทานให้ตามยศ เช่น สมปักปูม สมปักกรวยเชิง สำหรับข้าราชการชั้นสูง ผ้าสมปักริ้ว ผ้าสมปักลาย สำหรับข้าราชการระดับเจ้ากรมและปลัดกรม ผ้าสมปักล่องจวนที่มีพื้นสีขาวสำหรับพราหมณ์นุ่ง ได้ยกเลิกไปในสมัยราชการที่ 5
ผ้าโฮลสะไรย์ ลายโฮลผู้หญิง (โฮลสะไรย์) เป็นผ้ามัดหมี่ที่เกิดจากการมัดหมี่ลวดลายเดียวกันกับ ผ้าโฮลเปราะห์ แต่เมื่อนำมาทอจะใช้วิธีการดึงลายให้เกิดลวดลาย อีกแบบหนึ่ง และเพิ่มองค์ประกอบของลวดลายเพิ่มเข้าไป คือมีลายสายฝน หางกระรอกและคั่นด้วยเส้นพื้นสีแดงครั่งเป็นต้น ซึ่งแตกต่างจากลายโฮลเปราะห์ เอกลักษณ์อย่างหนึ่งของผ้า คือบริเวณริมผ้าจะมีเส้นสันนูนขนานไปกันทั้งสองด้าน ในทิศของแนวเส้นพุ่งอันเนื่องจากการจัดลวดลายแล้ว ม้วนเส้นไหม ที่เหลือสอดเข้าในช่องว่างของเส้นยืน จากนั้นทอทับ ทำให้ริมผ้าของผ้ามัดหมี่สุรินทร์มีความหนาและแข็งแรง
ขั้นตอนการทอผ้าโฮล การทอผ้าโฮล จะใช้ฟืมหรือฟันหวี 42 นิ้ว เป็นผ้ามัดหมี่ 3 ตะกอ ชาวสุรินทร์ส่วนมากเมื่อเริ่มทอผ้าโฮลจะต้องทอสีเขียวก่อน เรียกว่า การเปิดตา แล้วตามด้วยทอมัดหมี่ โดยมีเส้นพุ่งสีอื่นทอสลับประกอบ ได้แก่ สีน้ำเงิน สีแดง สีเขียว และเส้นหางกระรอก