ผ้าฝ้าย กลุ่มทอผ้าฝ้ายบ้านพระบาทนาหงส์

เอกลักษณ์ความโดดเด่นของผ้า

บ้านพระบาทนาหงส์ ต. พระบาทนาสิงห์  อ.รัตนวาปี  จ.หนองคาย เป็นหมู่บ้านที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เช่น ทำนา  กรีดยางพารา เลี้ยงสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นเป็ด ไก่ หมู วัว ควาย ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพทำนาปลูกข้าวตามฤดูกาล เมื่อหมดฤดูกาลทำนา ชาวบ้านมีเวลาว่างจึงเกิดการรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมต่าง ๆ รวมถึงการทอผ้าเพื่อใช้ประโยชน์ในครัวเรือน ไม่ว่าจะเป็นผ้าขาวม้า ผ้าถุง ผ้าสไบ ซึ่งผ้าที่ทอจะเป็นสีขาวไม่มีผ้าสีอื่น ๆ ที่มีสีสัน ต่อมาชาวบ้านจึงคิดหาวิธีที่จะทำให้ผ้าที่ทอนั้นมีสีสันและลวดลายที่หลากหลาย ประกอบกับการมีประสบการณ์จากการตัดไม้เพื่อนำมาทำฟืนทำให้เห็นว่า ต้นไม้  ใบไม้  และดอกไม้ บางชนิดนั้นสามารถทำให้เกิดสีได้ เช่น ต้นขนุนและขมิ้นให้สีเหลือง ดอกอัญชันให้สีน้ำเงิน ใบสักให้สีครีม จึงได้นำท่อนไม้ ใบไม้ ดอกไม้นั้นมาย้อมสีผ้า ทำให้ได้ผ้าที่มีหลากหลายสีมากขึ้น แต่ยังไม่มีลวดลายที่สวยงาม จึงนำเส้นฝ้ายไปย้อมสีก่อนนำมาทอเป็นผืนผ้า เมื่อนำเส้นฝ้ายหลากหลายสีมาทอสลับสีกันจะได้ผ้าที่มีสีสันและลายที่สวยงามมากขึ้น เรียกว่า “ผ้าขาวม้า” อีกทั้งยังมีการนำเส้นฝ้ายมามัดย้อมก่อนนำไปทอทำให้เกิดลวดลายที่สวยงาม ได้ผ้าลายสายฝนและผ้าถุงมัดหมี่ที่เกิดจากการนำฝ้ายหรือเส้นด้ายมามัดย้อมแล้วทอที่ละเส้น ต่อมามีการคิดค้นลายและวิธีการทำให้ผ้าเกิดลวดลายต่าง ๆ เรื่อยมาจนได้ผ้าทอลายขิดซึ่งเกิดจากการเก็บขิดทีละเส้น ๆ ตอนทอผ้าทำให้ผ้าที่ทอมีสีลวดลายที่หลากหลายและสวยงาม

เนื่องจากบ้านพระบาทนาหงส์เป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ จ. หนองคาย ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เรียกว่า “บั้งไฟพญานาค” จะเกิดขึ้นในช่วงออกพรรษาของทุก ๆ ปีที่แม่น้ำโขงหรือตามหนองน้ำธรรมชาติต่าง ๆ ประกอบกับความเชื่อและความศรัทธาของชาวบ้านเกี่ยวกับเรื่องพญานาค ชาวบ้านพระบาทนาหงส์จึงทอผ้าที่มีลายคล้ายกับพญานาคขึ้น เพื่อแสดงความเป็นเอกลักษณ์ของ จ. หนองคาย

ที่ตั้งและการติดต่อ
ที่ตั้ง: 44/1 ต พระบาทนาสิงห์ อ. รัตนวาปี  จ.หนองคาย

ติดต่อ: นางสงวน สมดี (ประธานกลุ่มฯ)

โทรศัพท์: 08 0179 3853

ลักษณะและลวดลายการทอหรือการผลิต

หลังจากที่เตรียมเส้นใยผ้าเสร็จ โดยผ่านขั้นตอนการย้อมสีธรรมชาติ เตรียมเส้นยืดหรือเคือปั่นหลอด ก็เข้าสู่การทอ ซึ่งที่กลุ่มทอผ้าแห่งนี้ จะใช้การทอกี่ธรรมดาที่สืบทอดต่อ ๆ กันมาจนถึงปัจจุบัน

ผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงหรือโดดเด่น

ผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม กลุ่มทอผ้าฝ้ายบ้านพระบาทนาหงส์มีผลิตภัณฑ์ผ้าหลายชนิด แต่ที่โดดเด่น คือ  ผ้าขาวม้า ผ้ามัดหมี่ ผ้าคลุมไหล่ และผ้าพันคอ

ความภาคภูมิใจ  พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนารถ ประธานกิตติมศักดิ์มูลนิธิอนุสรณ์หม่อมงามจิตต์บุรฉัตร ประทานโล่เกียรติคุณ “หม่อมงามจิต์ บุรฉัตร บุคคลสำคัญของโลก” แก่ ชุมชนพระบาทนาหงส์ หมู่ที่ 1, 9, 12, 13 ต. พระบาทนาสิงห์ อ. รัตนวาปี จ. หนองคาย หมู่บ้านหัตถกรรมดีเด่น เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2562

ผ้ามัดหมี่ กลุ่มทอผ้าฝ้ายมัดหมี่ย้อมสีธรรมชาติ บ้านนาฮี

เอกลักษณ์ความโดดเด่นของผ้า

เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2540 ชาวบ้านที่สนใจเรื่องการทอผ้ารวมกลุ่มกันประมาณ 5 คน โดยลงหุ้นคนละ 500 บาท เพื่อประกอบเป็นอาชีพเสริมหลังฤดูทำนา ซึ่งขณะนั้นเป็นการทอผ้าแบบธรรมชาติ ต่อมาทางศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน ได้เข้ามาสนับสนุนการสอน การทอแบบมีลวดลายใหม่ ๆ อีกทั้งหลายหน่วยงานเข้ามาส่งเสริมทางด้านความรู้และการเงิน ทำให้กลุ่มทอผ้าฯ มีความเข้มแข็งและยั่งยืนจนมาถึง ณ ปัจจุบันนี้

ที่ตั้งและการติดต่อ

แหล่งผลิต : กลุ่มทอผ้าฝ้ายมัดหมี่ย้อมสีธรรมชาติ บ้านนาฮี

ที่ตั้ง: 249 ม. 1 ต. ค่ายบกหวาน อ.เมือง จ.หนองคาย

โทรศัพท์: 08 0544 4965 (พิกุล ดวงอาสงฆ์) 08 4512 4639 (คุณนวลจันทร์ ทวงษ์ศรี)

 

ลักษณะและลวดลายการทอหรือการผลิต

นำฝ้ายมัดหมี่ไปย้อมด้วยสีธรรมชาติ พึ่งลมไว้ในที่ร่มจนกระทั่งแห้ง แล้วจึงปั่นตามขั้นตอน หลังจากนั้นก็เข้าสู่ขบวนการทอแบบทอมือหรือ Hand made จนเสร็จเป็นผืนผ้าตามที่ต้องการ

ผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงหรือโดดเด่น

ผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม ผ้าอเนกประสงค์, ผ้าคลุมไหล่, ผ้าถุง และผลิตภัณฑ์แปรรูป เช่น กระเป๋า หมอน เป็นต้น

ลายผ้าขาวม้า สืบทอดมาจากปู่ ย่า ตา ยาย ผ้าขาวม้าสามารถนำไปใช้ได้หลายอย่าง เช่น  ทำแปล มัดหัว ใส่แทนกางเกง ตัดเสื้อ คาดเอว หรือ เป็นของขวัญให้ผู้ใหญ่ คนที่รักใคร่นับถือ

หมี่ลายพญานาค เมื่อก่อนเรียกว่าหมี่นาค  พอมาปัจจุบัน จ. หนองคาย ได้มีปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาคขึ้นที่แม่น้ำโขง จึงเรียกใหม่จาก “หมี่นาค” เป็น “หมี่พญานาค” และได้พัฒนาฝีมือจากเดิมให้มีลวดลายใหม่ ๆหลายแบบหลายลวดลาย

ขิดลายช้าง คนแก่เล่าขานกันมาว่า ใครได้สวมเสื้อผ้าที่เป็นรูปช้าง คนนั้นจะเป็นผู้ที่ใคร ๆ ให้ความเคารพนับถือ เพราะช้างเป็นสัตว์ที่ใหญ่ที่สุด และพัฒนารูปแบบใหม่ ๆ ขึ้นมาอีกหลายแบบ

อีกทั้งลวดลายดอกจำปา ซึ่งทางกลุ่มเห็นว่า ภายในหมู่บ้านค่ายบกหวานมีต้นจำปาที่มีอายุราว 200 ปี จึงได้คิดลวดนี้ขึ้นมาและเป็นลวดลายเอกลักษณ์ประจำหมู่บ้านแห่งนี้

ผลิตภัณฑ์ทุกอย่างจะเป็นผ้าฝ้าย 80% การย้อมและให้สีต่าง ๆ ทุกสีจะย้อมจากเปลือกไม้หลายชนิด อีกทั้งมีการพัฒนาการให้ลายและสี การแปรรูป เพื่อขยายตลาดสู่สากล

ความภาคภูมิใจ ได้รับการคัดเลือกเป็นผลิตภัณฑ์ OTOP ระดับ 4 ดาว ประเภทผ้าเครื่องแต่งกาย เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2556