เอกลักษณ์ความโดดเด่นของผ้า
ผ้าทอลายขิด เป็นผ้าพื้นเมืองขึ้นชื่อของภาคอีสาน นับว่าเป็นศิลปะพื้นฐานที่สะท้อนให้เห็นภาพ ลักษณะ ลวดลาย และวิวัฒนาการของท้องถิ่นเดิมของไทยที่มีมาแต่โบราณ ชาวอีสานถือว่าในกระบวนการทอผ้าด้วยกันแล้ว การทอผ้าขิดต้องอาศัยความชำนาญและความมีชั้นเชิงทางฝีมือสูงกว่าการทอผ้าอย่างอื่น ๆ เพราะทอยากมาก มีเทคนิคการทอที่ซับซ้อนมากกว่าการทอผ้าธรรมดา เพราะต้องใช้เวลา ความอดทน และความละเอียดลออ มีกรรมวิธีที่ยุ่งยากทอได้ช้า และผู้ทอต้องมีประสบการณ์และพรสวรรค์ในการทอการทอผ้าลายขิด คือ การทอผ้าที่ทอแบบ “เก็บขิด” หรือ “เก็บดอก” เหมือนผ้าที่มีการปักดอก การทอผ้าดอกนี้ชาวอีสานเรียกกันว่า “การทอผ้าเก็บขิด” ลวดลายของขิดแต่ละลายจะมีรูปแบบที่สวยงาม มีความมันวาว นูนลอยออกมาบนผืนผ้า ชาวอีสานโดยทั่วไปนิยมทอผ้าขิดเพื่อทำเป็นหมอน สังเกตว่า ลวดลายขิดจะอยู่บริเวณส่วนกลางของตัวหมอน
ส่วนหน้าหมอนนั้นนิยมเย็บปิดด้วยผ้าฝ้ายสีแดง ลวดลายหมอนขิดส่วนใหญ่ เป็นลวดลายที่ผู้ทอได้รับแรงบันดาลใจมาจากธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความเชื่อ เช่น ลายแมงงอด ลายอึ่ง ลายช้าง ลายม้า ลายพญานาค ลายดอกแก้ว ลายดอกจันทร์ ลายตะเภาหลงเกาะ ลายขอ ลายสิงห์ ลายคชสีห์อองน้อย ลายแมงมุม ลายกาบ ลายหอปราสาท หรือธรรมาสน์ เป็นต้น แต่เดิมชาวภาคอีสานนิยมทอลวดลายขิดด้วยเส้นใยฝ้ายสีคราม ส่วนปัจจุบันนิยมใช้สีสันสดใส และพัฒนาการย้อมด้วยสีธรรมชาติจากเปลือกไม้ ใบไม้ ผ้าลายขิดในภาคอีสาน นอกจากทอในกลุ่มภูไทหรือผู้ไทยและไทลาวอื่น ๆ แล้ว ยังทอในกลุ่มไทกูยหรือส่วย เขมร ในบริเวณภาคอีสานตอนล่างด้วยเช่นกัน โดยทอทั้งหมอนขิด ขิดหัวซิ่น ขิดตีนซิ่น สไบลายขิด และที่น่าสนใจ คือ ผ้าขาวม้าไหมเชิงขิด มีลักษณะการทอที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะกลุ่ม คือ นิยมใช้เส้นไหมทอมากกว่าการใช้เส้นฝ้ายทอเหมือนกลุ่มอื่น ๆ
ที่ตั้งและการติดต่อ
แหล่งผลิต : กลุ่มแม่บ้านคำพระ
แหล่งจำหน่าย : ศูนย์จำหน่ายสินค้าพื้นเมือง ถนนชยางกูร ต. บุ่ง อ. เมือง จ. อำนาจเจริญ
ที่ตั้ง: บ้านคำพระ อ.หัวตะพาน จ. อำนาจเจริญ
โทรศัพท์ : 08 7876 4851 (คุณดารา จันทป)
ลักษณะและลวดลายการทอหรือการผลิต
ลวดลายและกรรมวิธีการทอ
ลักษณะเฉพาะของผ้าทอลายขิด สังเกตดูได้จากลายซ้ำของเส้นพุ่งที่ขึ้นเป็นแนวสีเดียวกันตลอด อาจจะเหมือนกันทั้งผืนหรือไม่เหมือนกันทั้งผืนก็ได้ แต่ต้องมีลายซ้ำที่มีจุดจบแต่ละช่วงของลายเห็นได้ชัด ผ้าทอลายขิดอีสาน ตามที่ได้ทอกันมาตั้งแต่สมัยดั้งเดิมในอดีตจนถึงปัจจุบันนี้ อาจแบ่งกลุ่มแม่ลายผ้าทอลายขิดได้เป็น 4 ประเภท คือ ขิดลายสัตว์ ขิดลายพันธุ์ไม้ ขิดลายสิ่งของเครื่องใช้ และขิดลายเบ็ดเตล็ด
กรรมวิธีในการทอผ้าไหมลายขิด
วิธีทอผ้าเก็บขิดหรือเก็บดอกนี้ ชาวพื้นเมือง เรียกว่า “การทอผ้าเก็บขิด” การทอผ้าขิดเก็บดอกเช่นนี้ ต้องมีไม้ค้ำอันหนึ่งกว้างประมาณ 4 นิ้ว ยาวขนาด 2 ศอก เป็นไม้บาง ๆ และมีไม้ขนาดเล็ก ๆ เป็นไม้สอดใช้สำหรับเก็บขิดให้เป็นลายต่าง ๆ ในบางครั้งก็อาจใช้ไม้เก็บขิดนี้ 30-40 อันก็มี แล้วแต่ความยากง่ายของลาย ฉะนั้นถ้าหากว่าใช้ไม้เก็บขิดจำนวนมากจะทำให้ทอได้ช้ามาก เพราะต้องเก็บดอกทีละเส้น ๆ จนหมดตามลวดลายที่กำหนดไว้
วิธีการเก็บขิดเพื่อสร้างลวดลายในประเทศไทยมี 3 วิธี คือ
1. คัดไม้ขิดโดยไม่มีการเก็บตะกอ วิธีการเก็บขิดแบบนี้เหมาะสำหรับการทอลวดลายที่ไม่ซับซ้อนมาก และต้องการเปลี่ยนลวดลายบ่อย ๆ ไม้ขิดที่เก็บลวดลายจะเรียงกันไปตามลำดับบนเครือเส้นยืนซึ่งอยู่ด้านหลังฟืม
2. เก็บขิดเป็นตะกอลอย การเก็บขิดวิธีนี้ ต้องผ่านการคัดไม้ขิดแบบแรกเสียก่อน เสร็จแล้วใช้ด้ายเก็บลายตามไม้ขิดที่คัดไว้ทุกเส้น เรียกว่า เก็บตะกอลอย วิธีนี้สะดวกกว่าวิธีแรก คือไม่ต้องเก็บ ขิดทุกครั้งในเวลาทอ แต่ใช้วิธียกตะกอลอยไล่ไปแต่ละไม้จนครบ วิธีการนี้ทำให้ทอลวดลายซ้ำ ๆ กันได้ โดยไม่ต้องเก็บลายใหม่ทุก ๆ ครั้งเหมือนวิธีแรก แต่ถ้ามีจำนวนตะกอมาก ๆ ก็ไม่เหมาะสมกับวิธีการนี้เช่นกัน
3. เก็บตะกอแนวตั้ง การเก็บตะกอแนวตั้ง พัฒนาจากแบบการเก็บขิดดั้งเดิมให้ทอได้สะดวกรวดเร็วขึ้นสามารถทำลวดลายที่ซับซ้อนและมีจำนวนตะกอมาก ๆ ได้
ผ้าขิดส่วนใหญ่ใช้เส้นใยฝ้ายมากกว่าเส้นใยไหม โดยทอเป็นผ้าขิดสำหรับใช้สอย เป็นหมอนผ้าห่ม ผ้าปูที่นอน ผ้าคลุมไหล่ ผ้าห่อคัมภีร์ และผ้าม่าน นอกจากนี้ยังมีการทอทอผ้าลายขิดด้วยฟืมหน้าแคบ เพื่อใช้เป็นหัวซิ่นและตีนซิ่นอีกด้วยโดยลักษณะลวดลายและการใช้สอยจะแตกต่างไปตามเอกลักษณ์ของกลุ่มวัฒนธรรม
ประเภทของผ้าไหมขิด
ประเภทของผ้าไหมลายขิดที่ทอ มีหลายประเภท ได้แก่
- ผ้าไหมลายขิดพื้นสีเดียว คือ ในผ้าผืนเดียวกันนั้นจะมีเพียงลายเดียว และสีเดียวตลอดทั้งผืน
- ผ้าไหมลายขิดมีเชิง คือ ทอแบบประเภทที่ 1 แล้วมาเพิ่มเชิงผ้าในผืนเดียวกันด้วยการทอลวดลายอื่นเข้าไป ส่วนมากจะเป็นสีเดียวกัน
- ผ้าไหมขิด-หมี่ คือ การทอผ้าไหมลายขิด ผสม กับผ้าไหมมัดหมี่ทอสลับกันเป็นช่วง ๆ ในผ้าผืนเดียวกันนั้น สีของผ้ามักจะเป็นสีเดียวกัน แต่เล่นระดับของ สีเข้ม-อ่อน สลับกันไปเป็นช่วง ๆ บางทีมีสีอื่น ๆ สลับลงไปด้วย แต่มักอยู่ในเฉดที่ใกล้เคียงกัน
ชาวอีสานนอกจากจะมีฝีมือในการทอผ้าได้อย่างประณีต และสวยงามแล้ว ยังมีฝีมือในการทอผ้าลายขิดได้อย่างสวยงามไม่แพ้กัน เพราะได้รับการฝึกหัดถ่ายทอดฝีมือในการทอผ้ามาตั้งแต่บรรพบุรุษ จนกระทั่งปัจจุบันได้มีการจัดตั้งกลุ่มแม่บ้านทอผ้าฝ้ายลายขิดขึ้น ซึ่งสามารถสร้างงานสร้างรายได้ให้อย่างงดงาม
ผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงหรือโดดเด่น
กลุ่มแม่บ้านคำพระ ต. คำพระ อ. หัวตะพาน จ. อำนาจเจริญ จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2535 มีสมาชิกทั้งหมด 25 คน ได้รวมกลุ่มกันทอผ้าฝ้ายลายขิดออกมาจำหน่ายนานกว่า 10 ปีแล้ว จนทำให้มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่ว และได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 และอันดับ 2 จากการประกวดผ้าลายขิดในงานศิลปาชีพ ครั้งที่ 10 ณ ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร จ. พระนครศรีอยุธยา เมื่อปี พ.ศ. 2537 ปัจจุบันฝีมือการทอของกลุ่มแม่บ้านคำพระยังคงฝีมือการทอไว้ได้อย่างสวยงามเช่นเดิม และนับว่าเป็นงานฝีมือที่ทรงคุณค่าแห่งภูมิปัญญาท้องถิ่นของ จ. อำนาจเจริญ
นางดารา จันทป อายุ 48 ปี ประธานกลุ่มทอผ้าฝ้ายลายขิด บอกว่า ชาวอีสานส่วนใหญ่จะมีฝีมือในการทอผ้าฝ้ายลายขิดมาตั้งแต่เด็ก ๆ แล้ว เนื่องจากได้รับการสั่งสอนจากย่า ยาย หรือไม่ก็แม่ จนทุกคนทำเป็นและมีความชำนาญ ซึ่งก่อนที่จะมีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มอย่างในปัจจุบันนี้ ได้มีการทอใช้กันภายในครอบครัวก่อน หรือบางครั้งจะใช้เป็นของฝากเพื่อนสนิทที่มาเยี่ยมเยียน จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2535 ได้มีหน่วยงานราชการเข้ามาให้การส่งเสริมสนับสนุนในด้านงบประมาณ วัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ จึงได้มีการรวบรวมเพื่อน ๆ จัดตั้งเป็นกลุ่มขึ้นมา โดยใช้ชื่อว่า “กลุ่มแม่บ้านคำพระ” ทอผ้าฝ้ายลายขิดออกจำหน่ายเต็มรูปแบบตลอดระยะเวลานานกว่า 10 ปีแล้ว สร้างชื่อเสียงให้แก่อำเภอและ จ. อำนาจเจริญ อย่างมากมาย และได้มีผู้สนใจมาหาซื้อไปเป็นของฝากให้กับญาติสนิทมิตรสหาย ผู้หลักผู้ใหญ่ กันอย่างต่อเนื่อง จนทุกวันนี้ทำให้สร้างรายได้ให้แก่สมาชิกไม่ต่ำกว่าเดือนละ 3,500 บาท ต่อคนเลยทีเดียว นอกจากนี้ทาง จ. อำนาจเจริญ ยังได้บรรจุเป็นสินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ที่โดดเด่นขึ้นชื่อประจำ จ. อำนาจเจริญ อีกด้วย