ผ้าฝ้ายทอมือ กลุ่มฝ้ายแท้ทอมือ จ.อุบลราชธานี

ประวัติความเป็นมา

สาวชาวอีสานในสมัยโบราณมีหน้าที่สำคัญ คือ การถักทอเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม ให้สมาชิกทุกคนในครอบครัว ทั้งเสื้อ ผ้าซิ่น ผ้าขาวม้า หรือแม้แต่ผ้าห่ม หมอน ทุกอย่างล้วนต้องใช้ฝีมือและความอดทน แต่สตรีชาวอีสานก็ไม่ได้คร่ำเคร่งกับเรื่องการงานจนลืมเติมจินตนาการและศิลปะลงในผืนผ้าของตัวเอง

คุณยายอัญญา วงศ์ปัดสา ได้มอบมรดกเป็นหีบใบเก่าที่ไม่มีใครกล้าเปิดดู จนทายาทของท่านลองเปิดดูก็พบผ้าซิ่นมัดหมี่ลายสวยมากมาย ป้าติ๋ว ธนิษฐา วงศ์ปัดสา ปราชญ์ด้านการทอผ้าของ อ. เขมราฐ จ. อุบลราชธานี เห็นแล้วชอบมากจึงนำมาหัดมัดลายตามที่ท่านเคยทำไว้ เป็นลายมัดหมี่ที่ไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน และทุกผืนนั้นมีประวัติความเป็นมาของลายเขียนไว้หมด น่าทึ่งที่ผู้หญิงสมัยก่อนไม่ได้เรียนหนังสือ แต่ก็สามารถคิดลวดลายและเก็บเรื่องราวไว้ได้ในผืนผ้า

ป้าติ๋ว ธนิษฐา วงศ์ปัดสา ปัจจุบันเป็นประธานกลุ่มฝ้ายแท้ทอมือ กลุ่มคนที่ร่วมกันฟื้นฟูและสืบสานศิลปะผ้าทอมัดหมี่เขมราฐที่เคยสูญหายไปแล้วให้กลับฟื้นขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง โดยอาศัยบันทึกที่บรรพบุรุษของป้าติ๋วได้เขียนเล่าเรื่องราวรวมถึงวิธีการทำผ้าทอแต่ละลายเอาไว้อย่างละเอียด

เอกลักษณ์ความโดดเด่นของผ้า

ลวดลายที่ช่างทอผ้านำมามัดหมี่เป็นลายบนผ้าซิ่นนั้นเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน ธรรมชาติรอบตัว ตลอดจนความเชื่อหรือแม้แต่นิทาน

ลายที่เป็นนางเอกของ อ. เขมราฐ ก็คือ “ลายนาคน้อย” เป็นลายที่พญานาคมาดลใจให้คุณยายอัญญา วงศ์ปัดสา ทำผ้ามัดหมี่ลายนี้ขึ้น โดยแปลงร่างเป็นหญิงสาวสองคนมายืมฟืมของคุณยาย เมื่อเอาฟืมมาคืนก็ได้ให้ลายผ้านี้ไว้ ใครที่ได้สวมใส่จะเป็นมงคลและมีแต่เรื่องดี ๆ เกิดขึ้น

นอกจากลายนาคน้อยแล้ว ยังมีลายนาคคู่ ซึ่งเป็นเรื่องราวของความเชื่อเกี่ยวกับพญานาค ผู้ดูแลความสงบสุขของดินแดนสองฝั่งลำน้ำโขง ชาวเขมราฐมีความเชื่อเรื่องพญานาคเป็นอย่างมาก และนำมาทำเป็นลายผ้าซิ่นมงคล มีคำทำนายเกี่ยวกับคนที่ชอบนุ่งผ้าซิ่นลายนาคคู่ว่า หญิงที่เลือกผ้าลายนี้แสดงว่าเป็นคนที่รักในศักดิ์ศรี หากตนเองไม่ได้ทำผิดสิ่งใดแล้วมีผู้มากล่าวหาก็จะสู้อย่างถึงที่สุด

นอกจากลายเกี่ยวกับความเชื่อแล้ว ยังมีลายที่เกี่ยวกับประเพณีวัฒนธรรม เช่น ลายพานไหว้ครู ซึ่งเป็นลายที่ผู้คิดค้นทำขึ้นให้ลูกหลานที่เป็นครูบาอาจารย์ใส่เท่านั้น นอกจากนี้ยังมีลายรั้วล้อมบ้าน ลายช่อเทียน ลายดาวเคียงเดือน ฯลฯ

ที่ตั้งและการติดต่อ

แหล่งผลิต : กลุ่มฝ้ายแท้ทอมือ

ที่ตั้ง : 15 ถ.​ วีระเกษม ต. เขมราฐ อ. เขมราฐ จ. อุบลราชธานี 34170

โทรศัพท์ : 08 0471 0987 (คุณติ๋ว)

กลุ่มทอผ้าฝ้ายย้อมสีธรรมชาติ  บ้านคันท่าเกวียน

เอกลักษณ์ความโดดเด่นของผ้า

ผ้าฝ้ายทอมือย้อมสีธรรมชาติ บ้านคันท่าเกวียน ได้รับการยอมรับว่าเป็นผ้าฝ้ายทอมือ ที่ย้อมสีเปลือกไม้ที่มีคุณภาพ และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว  โดยการใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติในท้องถิ่น จึงเป็นผ้าฝ้ายทอมือที่มีคุณภาพและสร้างสรรค์จากธรรมชาติทุกขั้นตอน โดยได้รับการสืบทอดเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่กันมา ถือเป็นภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่นในชุมชน

กลุ่มทอผ้าฝ้ายย้อมสีธรรมชาติบ้านคันท่าเกวียน ก่อตั้งขึ้นปี พ.ศ. 2547 โดยการนำของสำนักงานพัฒนาชุมชน  อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี  เป็นการรวมกลุ่มของสตรีในหมู่บ้าน ซึ่งมีทักษะการทอผ้าสืบต่อกันมา  ซึ่งมีจุดเด่นของผลิตภัณฑ์เป็นผ้าฝ้ายเข็นมือ ซึ่งเป็นฝ้ายปลอดสารเคมี 100%  เพราะเป็นฝ้ายที่ชาวบ้านปลูกเองริมแม่น้ำโขง ทางกลุ่มทอผ้าฝ้าย  บ้านคัน ท่าเกวียนจึงมั่นใจ ว่าเป็นฝ้ายที่ปลอดสารและปลอดภัย และเป็นผ้าฝ้ายที่เห็นตะวันก่อนใครในสยามแน่นอน  อีกอย่างสีที่กลุ่มใช้ก็เป็นสีธรรมชาติ และมีลวดลายที่สะดุดตา เช่น ลายขิต ลายขัด,  ลายมัดหมี่, ลายสายฝน, ลายสัปปะรด,  ลายลูกแก้ว, ลายน้ำไหล, ลายจกดอก ซึ่งเป็นลาย  ดั้งเดิมที่ได้รับการถ่ายทอดจากบรรพบุรุษ และยังเป็นมรดกภูมิปัญญาของชุมชน  นำเสนอสู่สังคมภายนอก

ในปี พ.ศ.2547 โดยองค์การบริหารส่วนตำบลซึ่งมีหน้าที่สำคัญในการพัฒนากลุ่มอาชีพในแต่ละ ตำบลโดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาอาชีพที่เป็นการเสริมรายได้ให้กับประชาชนอีกทั้งเป็นการ รักษาวิถีชีวิต ขนมธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมของชุมชนไว้อีกทางหนึ่ง องค์การบริหารส่วนตำบลนาโพธิ์กลางจึงได้จัดสรรงบประมาณสนับสนุนกลุ่ม จำนวน  20,000  บาท และฝ้ายเข็นแก่กลุ่มอีกจำนวนหนึ่งการสนับสนุนช่วยเหลือ และการสนับสนุนช่วยเหลือดังกล่าวทำให้กลุ่มมีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น มีการแบ่งงานกันทำภายในกลุ่ม  มีกาจ้างงาน มอบหมายงานให้กับสมาชิกใหม่ มีการฝึกหัดให้สำหรับคนที่ยังทอผ้าไม่เป็น และกลุ่มจะมอบหมายงานพื้นฐานอย่างง่ายในการทอผ้าและมีรายได้ควบคู่กันไปด้วยกัน  เช่น การสืบหูกจะได้ค่าตอบแทน 200 บาท / ต่อวัน  การค้นฝ้ายจะได้ค่าตอบแทน 100 /วัน ซึ่งประธานกลุ่มจะเป็นผู้มอบหมายงาน กำหนดลาย เนื่องจากเป็นผู้ทำหน้าที่ด้านการตลาด จึงทราบความต้องการของลูกค้า จากการทำงานที่มีประสิทธิภาพ ทำให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้นในระยะนี้จึงมีสมาชิกของกลุ่มมากขึ้นด้วย

กลุ่มทอผ้าฝ้ายย้อมสีธรรมชาติบ้านคันท่าเกวียน  เป็นกลุ่มอาชีพที่มีความเข้มแข็ง สร้างรายได้ให้แก่สมาชิก สมารถเลี้ยงตนเองได้ ผ่านการคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ไทยประเภทผ้าและเครื่องแต่งกายระดับสินค้า 4 ดาว ในปี พ.ศ. 2549  กลุ่มจึงกลายเป็นสถานที่ศึกษาดูงานเรื่องการย้อมสีธรรมชาติ และ การปลูกฝ้ายริมโขง  เป็นแหล่งเรียนรู้ของนักเรียนนักศึกษาและบุคคลทั่วไปการศึกษาดูงาน เพื่อนำมาพัฒนากลุ่มให้เข้มแข็ง

ที่ตั้งและการติดต่อ

ที่ตั้ง : 16 ม. 3 บ้านคันท่าเกวียน ต. นาโพธิ์กลาง อ. โขงเจียม จ. อุบลราชธานี

โทรศัพท์ : นางสาวสุชาวดี คง  08 7071 3089

 

ลักษณะและลวดลายการทอหรือการผลิต

กระบวนการการทอผ้าฝ้าย ย้อมสีธรรมชาติ

อุปกรณ์

  1. กี่ หรือ หูก เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการทอผ้าเป็นผืนตามลวดลายที่ต้องการ
  2. ฟืม มีลักษณะเป็นกรอบโลหะ หรือกรอบไม้ภายในเป็นซี่ถี่ ๆ คล้ายหวี   แต่ละเส้นด้ายยืนสอดเข้าไปช่องละเส้น เรียงลำดับตามความกว้างของหน้าผ้าจัดให้อยู่ห่างกันตามความละเอียดของผ้า
  3. เขา หรือตะกอ มีลักษณะเป็นกรอบไม้หรือโครงเหล็ก ภายในทำด้วยหลอดหรือโลหะเล็ก ๆ มีรูตรงกลางสำหรับร้อยด้ายยืน ปกติมี 2 ชุด ถ้าเพิ่มเขามากขึ้นก็สามารถสลับลายได้มากขึ้น
  4. ไม้หาบหูก มีประโยชน์ ในการดึงด้ายให้ตึง
  5. ไม้ไขว้ อุปกรณ์ที่ใช้ในการจัดเส้นด้ายให้เป็นระเบียบ
  6. ไม้ดาบ ใช้สอดผ่านด้ายยืน พลิกขึ้นทำให้เกิดช่องว่างให้กระสวยพุ่งผ่าน
  7. ไม้ค้ำ ไม้ที่ใช้สอดด้ายเส้นยืนเพื่อทำให้เกิดลวดลายในการทอด้วยเทคนิค
  8. แกนม้วนผ้า เป็นแกนที่อยู่ตรงกันข้ามกับแกนม้านด้ายยืน ใช้ม้วนผ้าที่ทอเสร็จแล้ว
  9. ไม้แป้นกี่ ที่นั่งของผู้ทอ บางแห่งใช้ไม้ไผ่ สอดด้วยแผ่นรองนั่ง
  10. เชือกเขา ใช้ดึงเขากับไม้หางหูกให้ตึง
  11. หวีหูก ใช้สำหรับหวีด้ายเส้นยืนให้เกิดความลื่นทำให้ทอผ้าได้ง่ายและสวยงาม

 

ผ้าอัญญานาง

ประวัติความเป็นมา

ภาษาอีสาน คำว่าอัญญา เป็นคำแทนชื่อเจ้านาย อีสานสมัยโบราณปกครองโดยอัญญา 4 คือ เจ้าเมือง อุปราช ราชบุตร ราชวงศ์ และยังใช้เป็นนามยศ ที่ใช้เรียกนำหน้าชื่อเจ้านายที่เสวยยศ รวมถึงบุตรหลานและภริยาด้วย เช่น อัญญาเจ้า อัญญานาง อัญญาพ่อ อัญญาแม่ เป็นต้น และในสมัยก่อน สตรีหรือผู้หญิงจะนุ่งผ้าซิ่น จะไม่มีการนุ่งกางเกงแบบผู้หญิงในยุคปัจจุบันนี้ ซึ่งผ้าซิ่นที่สตรีชั้นสูง สตรีผู้สูงศักดิ์ ภริยาของเจ้าเมือง หรืออัญญาทั้งหลายใช้นุ่งกันนั้นก็จะมีความพิเศษที่เหนือระดับและแตกต่างจากผ้าซิ่นที่หญิงสามัญชนทั่วไปใช้ ตั้งแต่ลวดลาย สีสันรวมถึงขั้นตอนการทอ ทั้งนี้เพื่อให้สมเกียรติของสตรีผู้สูงศักดิ์ จึงเรียกผ้าเหล่านี้ว่า “ผ้าซิ่นอัญญานาง”

ผ้าซิ่นอัญญานางนั้นมีลวดลาย สีสัน รวมถึงการทอที่พิเศษและยากลำบาก แต่ที่ขึ้นชื่อที่สุดก็คือ “ซิ่นทิวมุกจกดาว” เป็นผ้านุ่งสำหรับอัญญานางเมืองอุบลราชธานีศรีวนาลัยประเทศราช เล่าสืบกันมาว่า ช่างทอผู้ริเริ่มก็คือ อัญญานางเลื่อน เชื้อสายเจ้านายเมืองอุบล ในราวสมัยรัชกาลที่ 5 ครั้นท่านสิ้น วิธีการทอก็สูญหายหาคนทอไม่ได้ไปนับหลายสิบปี จนกระทั่งมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ร่วมกับกลุ่มสตรีทอผ้าบ้านลาดสมดี อ. ตระการพืชผล จ. อุบลราชธานี ได้เริ่มโครงการฟื้นฟูผ้าพื้นเมืองลายโบราณ จ. อุบลราชธานี จึงมีการฟื้นฟูการทอซิ่นทิวมุกจกดาวขึ้นใหม่อีกครั้งในปี พ.ศ. 2551

 

กลุ่มผ้าย้อมครามวังม่วง บ้านทางโค้ง  อ.นาตาล จ.อุบลราชธานี

เอกลักษณ์ความโดดเด่นของผ้า

วัฒนธรรมการทอผ้าย้อมครามบ้านทางโค้ง ได้สืบทอดจากบรรพบุรุษ ในอดีตจะทำสีครามและย้อมผ้าครามเพื่อใช้ในการนุ่งห่ม ด้วยการโดยปลูกต้นครามบริเวณหัวไร่ปลายนา ต่อมาเมื่อปี 2541 ได้มีการรวมกลุ่มกันทอโดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนตำบลพะลาน และการให้คำแนะนำการบริหารจัดการกลุ่มโดยเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน มีสมาชิกก่อตั้งทั้งหมด 37 คน ด้วยการปลูกครามในที่สาธารณะภายในหมู่บ้าน ปัจจุบันมีนางสำเนียง เหล่าผา เป็นประธานกลุ่ม ในส่วนของราคาขึ้นอยู่กับขนาดและความพอใจของลูกค้า เนื่องจากปัจจุบันผ้าย้อมครามกำลังได้รับความนิยม รวมถึงการส่งเสริมให้มีการสวมใส่ผ้าไทยของรัฐบาล โดยกระทรวงวัฒนธรรมด้วยการเพิ่มมูลค่านำมาออกแบบ ตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าสวมใส่ทั้งบุรุษและสตรี และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ทำให้กลุ่มเพิ่มจำนวนการผลิต และได้ขยายผลการทอผ้าย้อมครามหลายหมู่บ้าน นอกจากนี้ ผ้าย้อมครามบ้านทางโค้งยังได้รับคัดเลือกเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์เด่นของตำบล และได้เสนอให้คณะอนุกรรมการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ของอำเภอพิจารณา และได้รับคัดเลือกเป็นผลิตภัณฑ์ตามโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์

ที่ตั้งและการติดต่อ

แหล่งผลิต : กลุ่มผ้าย้อมครามวังม่วง

ที่ตั้ง : ม. 13 ต. พะลาน อ. นาตาล จ. อุบลราชธานี

โทรศัพท์ : 08 7241 5238 (นางสำเนียง เหล่าผา)

ผ้ากาบบัว วิสาหกิจชุมชน ผ้าไหมบ้านหนองบ่อ จ. อุบลราชธานี

เอกลักษณ์ความโดดเด่นของผ้า

“ผ้ากาบบัว” ถูกประกาศเป็นลายผ้าเอกลักษณ์ประจำจังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันอังคารที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2543 โดยคณะทำงานพิจารณาลายผ้าพื้นเมือง ตามโครงการสืบสานผ้าไทย สายใยเมืองอุบลฯ ได้ร่วมพิจารณาศึกษาประวัติความเป็นมาของลายผ้าในอดีตที่ทรงคุณค่ามาปรับปรุง ออกแบบสร้างสรรค์ลายผ้า ซึ่งได้คัดเลือกให้ชื่อว่า “ผ้ากาบบัว” เป็นลายผ้าเอกลักษณ์ประจำจังหวัดอุบลราชธานีมีคุณลักษณะดังนี้

สีผ้ากาบบัว เป็นสีของกาบบัว หรือกลีบบัว ซึ่งไล่จากสีอ่อนไปแก่ จากขาว ชมพู เทา เขียว น้ำตาล ซึ่งผ้ากาบบัวมีความหมายและเหมาะสมสอดคล้องกับชื่อของ จ. อุบลราชธานี

ผ้ากาบบัวอาจทอด้วยฝ้ายหรือไหม ประกอบด้วยเส้นยืน ย้อมอย่างน้อยสองสี เป็นริ้วตามลักษณะ“ซิ่นทิว” นอกจากนี้ยังทอพุ่งด้วยไหมสีมับไม (ไหมปั่นเกลียวหางกระรอก) มัดหมี่และขิด ลักษณะเฉพาะของผ้ากาบบัว แบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ผ้ากาบบัว (ธรรมดา) ผ้ากาบบัว (จก) และผ้ากาบบัว (คำ)

ผ้ากาบบัว (ธรรมดา) หมายถึงผ้าทอที่ใช้เส้นด้ายยืนอย่างน้อย 2 สี ทอเป็นพื้นลายริ้วตามลักษณะซิ่นทิว และใช้เส้นด้ายพุ่งทอเป็นลาย คั่นด้วยหางกระรอก (ควบเส้น) มัดหมี่ และขิด

ผ้ากาบบัว (จก) หมายถึง ผ้าทอที่ใช้เส้นด้ายยืนอย่างน้อย 2 สี ทอเป็นพื้นลายริ้วตามลักษณะซิ่นทิว และเพิ่มด้ายพุ่งพิเศษ โดยการจกเป็นลวดลาย กระจุกดาว หรือเกาะลายดาว ซึ่งอาจมีเป็นช่วงกลุ่มหรือกระจายทั่วทั้งผืนผ้า

ผ้ากาบบัว (คำ) หมายถึง ผ้าทอที่มีหรือไม่มีลายริ้วก็ได้ เป็นผ้ายกหรือผ้าขิดที่ใช้เส้นด้ายพุ่งเพิ่มพิเศษ คือ ดิ้นทอง อาจสอดแทรกด้วยดิ้นเงินหรือไหม สีต่าง ๆ ไปตามลวดลายบนลายพื้น และคั่นด้วยมัดหมี่

 

ที่ตั้งและการติดต่อ 

แหล่งผลิต : วิสาหกิจชุมชน ผ้าไหมบ้านหนองบ่อ

ที่ตั้ง : บ้านหนองบ่อ ม.3 ต. หนองบ่อ อ. เมือง จ. อุบลราชธานี

โทรศัพท์ : 09 4225 0046 (ประคอง บุญขจร)

ลักษณะและลวดลายการทอหรือการผลิต 

ลวดลายและกรรมวิธีการทอ

ผ้ากาบบัวเป็นผ้าที่มีลักษณะรวมเอาเอกลักษณ์อันโดดเด่นของผ้าพื้นเมืองอุบลฯ มารวมไว้หลายชนิด ได้แก่ ลักษณะของซิ่นทิว มับไม มัดหมี่ ผ้าขิด หรือจก

กรรมวิธีการทอ
เริ่มจากการเตรียมเส้นยืนหรือการค้นเครือหูก จะเตรียมเส้นยืนให้เป็นเส้นไหม 2 สี สลับกัน ซึ่ง คือ ลักษณะของซิ่นทิว ส่วนเส้นพุ่ง ประกอบด้วยเส้นไหม 4 ชนิด คือ เส้นไหมสีพื้น เส้นไหมมับไม (เส้นที่ปั่นเกลียวเส้นไหม 2 สีเข้าด้วยกัน) เส้นไหมสำหรับขิด (โดยนำเส้นไหมมาควบกัน 2 เส้น เพื่อให้เส้นไหมมีขนาดใหญ่ขึ้น) เส้นไหมหมี่ (เส้นไหมที่นำมามัดย้อมเป็นลวดลายเรียบร้อยแล้ว) เมื่อเตรียมเส้นไหมพุ่งทั้ง 4 ชนิด เรียบร้อยแล้ว จึงนำไปทอในหูกที่ค้นเครือไว้ โดยในการทอผู้ทอจะต้องจดจำรายละเอียด และลำดับของการสอดเส้นไหมพุ่งและการเก็บขิดตามลวดลายที่วางไว้

 

ผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงหรือโดดเด่น

ผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงหรือโดดเด่น คือ ผ้ากาบบัวจกดาว