สืบสานหัตถศิลป์ ถิ่นผ้าย้อมคราม @ สกลนคร
มรดกแห่งภูมิปัญญา สู่ผืนผ้าครามงามเลอค่า
ท่องเที่ยววิถีไทย เก๋ไก๋ในสไตล์คุณ ด้วยผ้าย้อมคราม “ผ้าผิวสวย”
ททท. ชวนเที่ยว ถิ่นผ้าย้อมคราม “ผ้าผิวสวย” สกลนคร
พร้อมแลกรับของที่ระลึกผ้าพันคอย้อมคราม ฟรี!!!
พิเศษเฉพาะในเดือนสิงหาคม – กันยายน 2559 นี้
(ของมีจำนวนจำกัด หรือจนกว่าของจะหมด)
เขาเล่าว่า... “ผ้าผิวสวย”
“ผ้า” สามารถช่วยบำรุงผิวของเราให้สวยได้
จากภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่นำพืชโบราณ “ต้นคราม” ที่เป็นที่เลื่องลือในสรรพคุณด้านสุขภาพมาย้อมสีผ้าแบบไร้สารเคมีที่ทำให้เมื่อใส่จะรู้สึกเย็นสบาย ไม่ร้อน ซึ่งถูกวิจัยมาแล้วโดยประเทศญี่ปุ่นและอเมริกา ว่าสามารถป้องกันรังสียูวีได้ แพทย์พื้นบ้านโบราณยังเชื่อว่ากลิ่นหอมของผ้าทำให้รู้สึกผ่อนคลาย “ท่องเที่ยววิถีไทย เก๋ไก๋ไม่เหมือนใคร” สัมผัสกรรมวิธีผลิตผ้าย้อมคราม และเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ผ้าย้อมครามแปรรูปหลากหลาย อาทิ ผ้าซิ่น ผ้าคลุมไหล่ ผ้าพันคอ กระเป๋าถือ กระเป๋าเป้สะพายหลัง หมวก เสื้อยืดย้อมคราม ตุ๊กตาผ้าย้อมคราม ได้ที่ "สกลนคร"
เสน่ห์ของผ้าย้อมคราม
Ø มีเฉดสีฟ้าถึงสีน้ำเงินเข้ม เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของคราม เป็นการย้อมสีที่ได้จากธรรมชาติ 100 %
Ø มีกลิ่นหอมอ่อนๆ ซึ่งเป็นกลิ่นจากคราม
Ø เนื้อผ้านุ่ม สวมใส่สบาย อากาศหนาวใส่แล้วอุ่น อากาศร้อนใส่แล้วเย็น
Ø สามารถกันยุงได้ เพราะผ้าครามมีกลิ่นที่ยุงไม่ชอบ
Ø ป้องกัน UV สามารถป้องกันรังสีอัลตราไวโอเลต หรือ รังสียูวีได้
Ø ชาวไทยกะเลิงเชื่อว่าครามเป็นต้นไม้ที่มีชีวิตและจิตวิญญาณของธรรมชาติเทียบเท่าเทพยดา เมื่อนำครามมาย้อมผ้า จะทำให้ผู้สวมใส่สุขกายสบายใจ
ถนนผ้าคราม สกลนคร
จังหวัดสกลนครเปิด “ย่านเมืองเก่าสกล ถนนผ้าคราม มนต์เสน่ห์แห่งเมืองสกล วิถีคนวิถีคราม” ให้นักท่องเที่ยวได้เลือกซื้อสินค้าผ้าย้อมครามมากมายหลากหลาย อาทิ ชุดผ้าคราม ผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ กระเป๋า เสื้อยืดย้อมคราม หมวก รองเท้า พวงกุญแจ สมุดโน้ต จากกลุ่มชุมชนผู้ผลิตผ้าครามที่มีชื่อเสียงของจังหวัดสกลนคร พร้อมทั้งเลือกซื้อของกินของฝากขึ้นชื่อของสกลนคร อาทิ ข้าวฮาง น้ำหมากเม่า ไวน์เม่า ข้าวจี่ เครื่องจักรสาน กระติบข้าวเหนียว ฯลฯ ในทุกเย็นวันเสาร์-อาทิตย์ และวันสำคัญทางศาสนา ณ บริเวณหน้าวัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร อ.เมือง จ.สกลนคร

รู้หรือไม่??
ð ครามเป็นพืชตระกูลถั่ว ในสกุล Indigoferd linctoria Linn. เป็นไม้พุ่ม สูง 1-1.5 เมตร ดอกเป็นช่อออกตามซอกใบ กลีบดอกสีชมพู ผลเป็นฝักออกเป็นกระจุก
ð พันธุ์ครามที่นิยมปลูกในประเทศไทย คือ ครามฝักตรง และครามฝักงอ โดยครามฝักงอให้สีน้ำเงินใสหรือน้ำเงินอมฟ้า ส่วนครามฝักตรงให้สีน้ำเงินอมม่วงส่วนที่นำมาใช้หมักให้เกิดสีคือ ใบครามทั้งกิ่ง
ð การปลูกครามจะปลูกราวปลายเดือนเมษายน เมื่อครามอายุราว 3-4 เดือน ใบจะเขียวเข้มและออกฝัก ตอนเช้าตรูสังเกตเห็น หยดน้ำเงินใต้ต้นคราม แสดงว่าครามแก่ให้สีได้แล้ว จึงตัดหรือเกี่ยวทั้งต้น กิ่งและใบ ในเวลาเช้าตรูเพื่อให้ได้ใบครามสดที่สุด มีสีครามมากที่สุด
ð จุลินทรีย์ในกระบวนการหมักครามเพื่อทำให้เกิดสี เป็นจุลินทรีย์ที่อยู่ตามธรรมชาติ คือ แบคทีเรียในกลุ่มต่างๆ เช่น Atopostipes sp , Clostridium sp , Sporomusa acidovorans, Amphibacillus sp , Alkalibacterium sp ,
ð ฝ้าย (cotton) เส้นใยที่นิยมนำมาย้อมคราม คือเส้นใยที่นำมาจากต้นฝ้าย เนื่องจากสามารถดูดซับสีครามได้ดี ในบางพื้นที่มีการนำเส้นไหมมาย้อมครามได้เช่นกัน
ð น้ำครามที่ได้จะต้องนำไปปรับความเป็นกรดเป็นด่างให้พอเหมาะก่อนนำไปย้อม
สีครามน้ำเงินหรือที่เรียกว่าน้ำครามสด จะไม่สามารถซึมเข้าเกาะจับเนื้อในของใยฝ้ายได้ ใช้ย้อมผ้าไม่ได้ แต่ถ้าเอาน้ำครามไปหมักในน้ำขี้เถ้าในสัดส่วนที่พอเหมาะ และปรับความเป็นกรดเป็นด่างให้พอเหมาะ สีครามน้ำเงินจะเปลี่ยนเป็นสีครามสีเหลืองละลายในน้ำขี้เถ้า ซึ่งสีครามสีเหลืองนี้ก็ทำปฏิกิริยาได้ดีกับอากาศกลายเป็นสีครามน้ำเงินเช่นเดียวกันกับสีครามในน้ำแช่ ผิวหน้าของน้ำย้อมจึงเป็นสีน้ำเงินแต่น้ำย้อมข้างล่างเป็นสีเหลือง สีครามที่ใช้ย้อมผ้าได้คือสีครามสีเหลือง ไม่ใช่สีครามสีน้ำเงิน
ð น้ำย้อมที่เย็นจะย้อมติดสีครามได้ดีกว่า จึงใช้โอ่งดินทำหม้อคราม เพราะน้ำที่ซึมจากโอ่งดินจะช่วยระบาย
ความร้อน ทำให้อุณหภูมิของน้ำย้อมเย็นกว่าปกติ หรือตอนเช้าและตอนเย็นเป็นเวลาที่เหมาะสมในการย้อมคราม
ð การดูแลน้ำย้อมในหม้อคราม ให้ย้อมได้ทุกวันเช้า - เย็น ติดต่อกันนานๆ เป็นขั้นตอนที่ยากที่สุดในการทำสีคราม แต่ถ้าช่างย้อมเข้าใจสีครามและหมั่นสังเกตอีกทั้งซื่อตรงสม่ำเสมอในการปฏิบัติ จะสามารถดูแลหม้อครามแต่ละหม้อได้นานหลายปี

สืบสานหัตถศิลป์ ถิ่นผ้าย้อมคราม @ สกลนคร
มรดกแห่งภูมิปัญญา สู่ผืนผ้าครามงามเลอค่า
จากภูมิปัญญาชาวบ้านสู่งานหัตถศิลป์ จากผ้าฝ้ายย้อมครามทอมือสู่ผลิตภัณฑ์ทรงคุณค่า “ผ้าผิวสวย” ผ้าย้อมคราม สกลนคร เป็นมรดกทางภูมิปัญญาอันล้ำค่าจากบรรพบุรุษที่บรรจงปั้นแต่งผลงานชิ้นเอกบนเส้นสายใยผ้าจนได้เป็นผืนผ้าสีฟ้าครามงามเฉิดฉายประดับเรือนกายด้วยลวดลายต่างๆ เขาเล่าว่า...ผ้าย้อมครามสามารถบำรุงผิวของเราให้สวยได้ นับเป็นความโดดเด่นน่าหลงใหลของผ้าย้อมครามที่แตกต่างจากผ้าอื่นๆ เพราะความนุ่มละเมียดมือยามสัมผัส หรือยามสวมใส่ก็รู้สึกเย็นกาย และยังบำรุงผิวพรรณให้เนียนสวย
ผ้าย้อมครามไม่เพียงแต่ช่วยสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้กับคนในชุมชน แต่ยังเติมเต็มความภาคภูมิใจและอิ่มเอมใจที่ได้สืบทอดภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่เป็นมรดกตกทอดกันมาอย่างยาวนานจากรุ่นสู่รุ่น เฉกเช่น ผ้าย้อมครามทั้ง 5 แห่งในพื้นที่จังหวัดสกลนคร ที่ยังคงความงดงามความประณีตอันเป็นเอกลักษณ์ในแบบฉบับของตัวเองอย่างน่าชื่นชม สร้างชื่อเสียงเป็นที่รู้จักได้รับการยอมรับทั้งในและต่างประเทศ และสิ่งนี้คือมรดกทางวัฒนธรรมที่คนไทยทุกคนควรร่วมกันรักษาไว้ตราบกาลนาน
ผ้าฝ้ายย้อมครามแท้ตั้งแต่ต้นจรดปลาย
ผ้าย้อมครามบ้านดอนกอย
สีครามที่ประดับอยู่เต็มผืนผ้าจากการย้อมเส้นฝ้ายด้วยครามธรรมชาติแท้ แล้วนำมาถักทอขึ้นเป็นลวดลายอันวิจิตรบรรจง กลายเป็นความโดดเด่นที่น่าภาคภูมิใจ และทำให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนทอผ้าย้อมครามบ้านดอนกอย ซึ่งเดิมเป็นกลุ่มทอผ้าย้อมครามเล็กๆ ที่มีสมาชิกเพียง 9 คน ก่อตั้งในปี 2546 กลายมาเป็นกลุ่มท่อผ้าย้อมครามขนาดใหญ่ที่ปัจจุบันมีสมาชิกอยู่ถึง 45 คน
คุณถวิล อุปรี ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนทอผ้าย้อมครามบ้านดอนกอย เผยเคล็ดลับการทำย้อมครามของกลุ่มว่า “เราทำผ้าย้อมครามตามภูมิปัญญาดั้งเดิม ซึ่งก็ไม่ได้แตกต่างจากที่อื่นๆ จะแตกต่างก็ที่คนทำ เพราะหากนำเส้นฝ้ายย้อมเคมีมาเป็นทางยืนเวลาทอ แล้วใช้เส้นฝ้ายย้อมครามเป็นทางพุ่ง ผ้าที่ได้ออกมาก็แตกต่างกันแล้ว แต่ของบ้านดอนกอยที่เราทำคือ ทางยืนก็ใช้ฝ้ายย้อมคราม ทางพุ่งก็ใช้ฝ้ายย้อมคราม จึงแตกต่างตรงนี้ ซึ่งผ้าฝ้ายย้อมครามของเราจะนิ่ม เวลานำไปใช้สวมใส่จะพลิ้วดูแล้วสวยงาม เคล็ดลับของเราก็คือพูดจริงทำจริงร้อยเปอร์เซ็นต์ ใช้ฝ้ายย้อมครามธรรมชาติแท้ ผ้าทอย้อมครามทุกเส้นทุกสาย เราเอาใจใส่ดูแลอย่างสม่ำเสมอ สมาชิกของเราก็มีความซื่อสัตย์ เอื้ออารี ปรองดองกัน ก็เลยทำได้ หลังจากเกี่ยวข้าวเสร็จเดือนพฤศจิกายนแล้วก็จะมารวมกลุ่มกันทำผ้าย้อมครามไปจนถึงเดือนมิถุนายนของอีกปีหนึ่ง”
สำหรับวิธีการย้อมจะเริ่มต้นตั้งแต่การปลูกต้นครามกันเอง เมื่อต้นครามอายุได้ประมาณ 3 เดือน ขนาดความสูงประมาณหน้าอกหรือเอว สมาชิกก็จะไปเก็บใบคราม โดยคัดกรองตั้งแต่สีของใบที่เก็บมาจะต้องเป็นสีเขียวเข้มซึ่งจะให้เนื้อครามที่สวย นำใบครามมาแช่น้ำในสัดส่วนใบคราม 4 กิโลกรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ตั้งทิ้งไว้แล้วจึงมากลับใบครามด้านล่างให้ขึ้นมาอยู่ด้านบนบ้าง กระทั่งเช้าวันรุ่งขึ้นจึงนำใบครามขึ้นจกน้ำ รวมเวลาในการแช่ใบครามประมาณ 24-28 ชั่วโมง จากนั้นนำปูนแดงหรือปูนขาวมาละลายด้วยน้ำแช่ใบครามก่อนจะเทผสมกับน้ำใบครามที่เหลือ แล้วจกหรือตีน้ำให้ขึ้นฟองสีน้ำเงิน ทิ้งไว้ 2-3 ชั่วโมง เทน้ำที่อยู่ด้านบนซึ่งเป็นสีน้ำตาลออกจนเหลือเนื้อครามด้านล่าง นำเนื้อครามมากรองเศษใบครามที่เหลือและน้ำออกจนเหลือแค่ตะกอนเนื้อคราม
ส่วนขั้นตอนการย้อมเริ่มต้นจากการต้มน้ำโดยใส่เปลือกไม้ เช่น เปลือกต้นสมอ เปลือกต้นลิ้นฟ้า (ต้นเพกา) หรือใบไม้ที่หาได้ในท้องถิ่นลงไปต้มจนได้น้ำสีเหลืองเข้มหรือน้ำตาลอ่อน ก่อนจะนำมากรองใส่ภาชนะที่จะก่อหม้อเตรียมย้อม โดยสัดส่วนน้ำเปลือกไม้ 15 กิโลกรัม เนื้อคราม 1 กิโลกรัม มะขามเปียกเท่าลูกไข่ และน้ำด่าง 1 กิโลกรัม ซึ่งทำจากหัวกล้วยเน่า มะละกอเน่า กะลามะพร้าว ต้นมะขาม ต้นเถาวัลย์ นำมาเผารวมกันได้เป็นขี้เถ้า ไปผสมน้ำและนำไปกรอง จะได้น้ำด่างที่มีรสเค็มช่วยให้ครามจับกับเส้นใยฝ้ายได้ดีขึ้น เมื่อนำส่วนผสมทั้งหมดผสมกันดีแล้ว ใช้ขันจกน้ำที่ก่อหม้อจนเปลี่ยนสีเป็นเหลืองอมเขียวและขึ้นฟองจึงใช้ย้อมได้
ด้วยกรรมวิธีการย้อมครามทำให้เห็นได้ว่ากว่าจะมาเป็นเส้นฝ้ายสีฟ้าสวยใส ก็ต้องผ่านกรรมวิธีการย้อมครามที่อาศัยความละเมียดเอาใจใส่ จึงนับเป็นงานหัตถศิลป์ที่ทรงคุณค่า และกว่าจะมาเป็นผ้าซิ่น ผ้าผืน ให้ได้นำไปสวมใส่หรือดัดแปลงเป็นเสื้อผ้าหรือผลิตภัณฑ์อื่นๆ ก็ยังต้องผ่านการถักทออีกหลายวัน ซึ่งคุณถวิลบอกว่าที่ทำทั้งหมดนี้ก็เพราะใจรัก และได้สืบทอดภูมิปัญญาของปู่ย่าตายายไปด้วย โดยผลิตภัณฑ์ของกลุ่มที่ได้รับความนิยม ได้แก่ ผ้าคลุมไหล่ ผ้าถุง ผ้าพันคอ ผ้าเอนกประสงค์ ส่วนลวดลายที่ถักทอนั้นจะเป็นลายดั้งเดิม เช่น ลายนกนางแอ่น ลายดอกจำปา ลายโคมไฟใหญ่ ลายสายใยบัว ลายบานไม่รู้โรย ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีมาก
มัดแล้วย้อม ย้อมแล้วทอ สร้างผ้าลายน้ำไหลชั้นเลิศ
ผ้าย้อมครามบ้านโนนเรือ (โฮมครามวารี)
เนื้อผ้านุ่มละมุนมือประกอบกับความแวววาวขับให้ผ้าย้อมครามของกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านโนนเรือสามัคคีโดดเด่นกว่าผ้าทอชิ้นไหนๆ อีกทั้งลวดลายที่คิดขึ้นเองล้วนแตกต่างจากลวดลายบนผืนผ้าจากที่อื่นๆ โดยเฉพาะความพลิ้วไหวของลายน้ำไหลบนผ้าย้อมครามนั้น นับเป็นความภาคภูมิใจของ คุณวารี ไชตะมาตย์ ประธานคณะกรรมการกลุ่มแม่บ้านเกษตรบ้านโนนเรือ ก็ว่าได้ เนื่องจากเป็นลายต้นตำรับที่มีการคิดค้นและส่งเข้าประกวดจนได้รับรางวัลชนะเลิศจากการประกวดผ้าระดับจังหวัดเป็น การันตี ความโดดเด่นของผ้าลายน้ำไหลนี้ไม่ได้มีเพียงการถักทอเส้นใยฝ้ายเป็นลวดลายอย่างประณีตเท่านั้น แต่ยังเกิดจากการมัดย้อมด้วยสีจากวัตถุดิบธรรมชาติ ซึ่งคุณวารีกล่าวถึงผ้าลายน้ำไหลไว้ว่า
“จุดเด่นของผ้าลายน้ำไหลคือเวลาที่ปั่นฝ้ายแล้วเอามามัดเพื่อนำไปย้อม เราจะมัดถี่ มัดห่าง เมื่อนำมาทอแล้วลายจะสไลด์ไปตามลายของเส้นฝ้ายเอง ซึ่งจะเลียนแบบกันไม่ได้ ถ้าไม่เรียนก็จะทำออกมาไม่เป็นลาย แล้วลายใหญ่หรือเล็กก็อยู่ที่การมัดของเรา”
นอกจากผ้าย้อมครามลายน้ำไหลแล้วก็ยังมีลายอื่นๆ อีกหลายลายที่โดดเด่นและเป็นที่นิยม เช่น ลายดอกพิกุลเล็ก ลายนกยูง ลายไทย ลายสก๊อต หรือลายสะเก็ดดาว ที่งดงามตระการตาราวกับดวงดาวบนฟากฟ้าตกร่วงสู่ผืนพสุธาจริงๆ
ส่วนของกระบวนการทำผ้าย้อมครามของกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านโนนเรือสามัคคี คุณวารีเล่าว่าเกิดจากการเรียนรู้และไปอบรมจากหลายๆ แหล่ง ผนวกกับการลองผิดลองถูก จนผลิตภัณฑ์สามารถนำออกจำหน่ายได้ และก่อตั้งเป็นกลุ่มที่เริ่มต้นมีสมาชิกเพียง 10 กว่าคน จนถึงทุกวันนี้มีสมาชิกถึง 32 คน โดยการทำผ้าย้อมครามของที่นี่จะเริ่มตั้งแต่การปลูกคราม เก็บใบครามมาหมักทิ้งไว้ 24 ชั่วโมง จากนั้นแยกใบครามออก ก่อนใส่ปูนแดง มะขามเปียก ส้ม ลงไปและกวนให้ได้เนื้อคราม ทิ้งไว้ประมาณ 1 ชั่วโมง จึงนำมาเทน้ำใสๆ ที่อยู่ด้านบนออกให้เหลือแต่ตะกอนครามด้านล่าง แล้วกรองเอาแต่เนื้อครามมาใช้ย้อมเส้นฝ้าย
ในการย้อมจะมีการมัดฝ้ายแต่ละไจให้เป็นลวดลาย เช่น ลายก้นหอยจะต้องจับเส้นฝ้ายม้วนขดเป็นก้นหอย ลายไส้กรอกต้องพับเส้นฝ้ายในลักษณะยาวตรง หรือลายนกน้อยก็ต้องจับให้เป็นจีบแล้วมัด เมื่อคลี่ออกมาแล้วจะได้ลักษณะที่เหมือนนก ซึ่งการมัดฝ้ายเพื่อย้อมครามนี้ถือเป็นจุดเด่นของผลิตภัณฑ์ผ้าทอบ้านโนนเรือเลยทีเดียว
จุดเด่นอีกอย่างหนึ่งของผ้าทอบ้านโนนเรือที่แตกต่างจากที่อื่นอย่างเห็นได้ชัด ก็คือสีที่สดใสของผ้าจากการย้อมด้วยครามธรรมชาติแท้ ทำให้ดูสะอาดตา และมีริมผ้าที่สวยงามกว่าที่ไหนๆ เพราะปกติถ้าทอโดยไม่ได้เรียน ริมผ้าจะมีขนาดใหญ่ทำให้ผ้าไม่สวยเท่าที่ควร แต่สำหรับผ้าทอบ้านโนนเรือจะมีริมขนาดเล็กเพราะใส่เส้นฝ้ายเพียง 2 เส้น เวลาทอจะทำให้ริมผ้าเรียบเล็กสวยงาม นับได้ว่าเป็นความแตกต่างที่ทำให้ผลงานผ้าทอย้อมครามของบ้านโนนเรือโดดเด่นดึงดูดตาและต้องใจผู้หลงใหลในเส้นสายของผ้าทออย่างแท้จริง
สวยเสลาหลากสีบนพื้นคราม ความแตกต่างอย่างลงตัว
กลุ่มฑีตาผ้าย้อมครามธรรมชาติ
ผืนผ้าที่ถูกแต่งแต้มไปด้วยสีฟ้าครามสลับเหลื่อมลายงดงามด้วยเส้นสายใยฝ้ายที่หลากสีสัน เป็นผลิตภัณฑ์ชั้นเยี่ยมที่เกิดจากภูมิปัญญาพื้นบ้านที่สืบทอดกันมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายายอย่างแท้จริง เพราะผลิตภัณฑ์ผ้าทอย้อมครามที่บ้านฑีตานั้นมีที่มาจากคุณประไพพรรณ แดงใจ ลูกสาวของคุณยายฑีตาต้องการกลับมาอยู่ในถิ่นฐานบ้านเกิดที่สกลนคร จึงคิดหาอาชีพใหม่ และสืบเสาะไถ่ถามถึงวิธีการย้อมครามจากผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้าน เป็นการศึกษาเรียนรู้แบบปากต่อปาก แล้วจึงขอเมล็ดครามมาทดลองปลูก กระทั่งสามารถนำมาย้อมได้เป็นผ้าย้อมครามในที่สุด โดยเริ่มนำออกจำหน่ายครั้งแรกที่ตลาดมหาวิทยาลัยเกษตร และได้รับการตอบรับจากคณาจารย์เป็นอย่างดี

คุณวิลาวัณย์ จันทร์เพ็งเพ็ญ ที่ปรึกษากลุ่มฑีตาผ้าย้อมครามธรรมชาติ ได้เล่าถึงประวัติการย้อมครามว่าในสมัยก่อนผู้เฒ่าผู้แก่เดินขึ้นไปบนภูเขาแล้วพบต้นครามที่แก่จัด ซึ่งมีน้ำหยดลงมาจากใบ เมื่อสัมผัสกับใบแห้งสีน้ำตาลที่อยู่ด้านล่าง ก็เห็นเป็นสีน้ำเงิน จึงทดลองนำใบครามมาผสมกับเปลือกหอยโขลกละเอียดซึ่งใช้แทนปูน แช่ทิ้งไว้หนึ่งคืนจนตกตะกอน แล้วเทน้ำใสข้างบนทิ้งได้เป็นเนื้อคราม แต่เมื่อนำไปย้อมผ้า สีของครามนั้นก็ตกไหลไปหมดไม่ติดเนื้อผ้า จึงคิดใช้ต้นไม้ที่มีรสเค็ม เช่น ต้นเพกา ก้านมะพร้าว หัวกล้วยเน่าฝานตากแดด นำมาเผาได้เป็นขี้เถ้า เมื่อผสมน้ำได้เป็นน้ำด่าง แล้วจึงนำมาผสมกับเนื้อคราม ทำให้สามารถย้อมผ้าได้ติดสีคราม ซึ่งสำหรับการย้อมครามบ้านฑีตาก็มีกระบวนการย้อมเช่นเดียวกับภูมิปัญญาดั้งเดิม แต่เพิ่มเติมความใส่ใจกับการก่อหม้อเตรียมย้อม ซึ่งต้องคอยสังเกตสี เติมกรด เติมด่าง ให้มีความพอดี เหมาะสมกับสีที่จะย้อม จึงจะได้สีครามสวยใสออกมาให้ชื่นชม
ส่วนสีอื่นๆ ที่ใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติในการย้อม เช่น สีเขียวจากเปลือกมะม่วง สีน้ำตาลจากมะเกลือหรือประดู่ สีม่วงจากครั่ง เพื่อสร้างสีสันและลวดลายที่หลากหลายนั้น จะใช้หลักการผสมของแม่สีเข้ามาประกอบ โดยการย้อมทับจนออกมาเป็นสีที่ผสมผสานกันได้อย่างกลมกลืนลงตัว

นอกจากเลื่อมลายสลับสีที่แทรกอยู่บนผืนผ้าทอย้อมครามจะเป็นเอกลักษณ์ที่ชัดเจนของผ้าทอย้อมครามบ้านฑีตาแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ถือว่าเป็นเอกลักษณ์และทำให้ผ้าทอของที่นี่แตกต่างจากที่อื่นๆ และเป็นที่ชื่นชอบของลูกค้าก็คือการใช้ฝ้ายเข็นมือแท้ๆ ที่ไม่ใช่ฝ้ายจากโรงงาน ซึ่งจะมีลักษณะเส้นใหญ่ เนื้อหนา เมื่อทอแล้วจะได้ผืนผ้าทอที่นิ่ม ใส่แล้วให้ความรู้สึกนุ่มนวล แต่ก็ให้เส้นสายของลวดลายที่คล้ายยีนส์
สำหรับลายผ้าทอย้อมครามของบ้านฑีตาที่เป็นที่นิยมคือ ลายผ้าซิ่นยก ลายเกร็ดเต่า มัดหมี่ลายนาค ลายสายฝน ลายหน่อไม้ ลายสก๊อต และยังมีการพัฒนาลายใหม่ๆ รวมถึงสีสันใหม่ๆ อยู่อย่างสม่ำเสมอ
ผ้าฝ้ายทอย้อมครามซึ่งเป็นงานหัตถกรรมตั้งแต่กระบวนการแรกไปจนถึงกระบวนการสุดท้าย จะทรงคุณค่าได้นั้น ก็ต้องอาศัยความใส่ใจในทุกรายละเอียดทุกขั้นตอนการทำ ซึ่งสำหรับกลุ่มฑีตาผ้าย้อมครามธรรมชาติแล้ว นับได้ว่าผ้าฝ้ายทอย้อมครามประดับด้วยสีสันที่คั่นสลับเป็นผลงานที่ทางกลุ่มได้ย้อมและถักทอขึ้นด้วยหัวใจและสองมืออย่างน่าชื่นชม เยี่ยมชมขั้นตอนการผลิตผ้าย้อมครามธรรมชาติและสินค้าผ้าย้อมครามกลุ่มฑีตาได้ที่ กลุ่มฑีตาผ้าย้อมครามธรรมชาติ โทร. 097-9959544, 097-9546632 เลขที่ 1 หมู่ที่ 14 บ้านนาดี ตำบลนาหัวบ่อ อำเภอพรรณนานิคม จังหวัดสกลนคร (ระยะทางห่างจากตัวเมืองสกลนคร 37 กม.) www.facebook.com/Maeteeta
แสดงความคิดเห็น