ข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวจังหวัดร้อยเอ็ด

จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นแหล่งอารยธรรมโบราณซึ่งอยู่ตอนกลางของภาคอีสานบริเวณลุ่มน้ำภาชี มีความเจริญรุ่งเรืองมากในยุคประวัติศาสตร์และมีความหลากหลายในแง่ของศาสนาและวัฒนธรรม อันเนื่องจากดินแดนแห่งนี้เคยตกอยู่ในอิทธิพลของอาณาจักรขอมโบราณ

นอกจากนี้ ร้อยเอ็ดยังเป็นแหล่งปลูกข้าวหอมมะลิชั้นดี มีชื่อเสียงโด่งดัง จากอดีตถึงปัจจุบัน จังหวัดร้อยเอ็ดยังคงเป็นเมืองที่มีความน่าสนใจ ทั้งประเพณีและวัฒนธรรมอีกทั้งยังมีผลิตผลิตภัณฑ์พื้นเมืองที่มีชื่อเสียง เช่น ผ้าทอพื้นเมือง เครื่องจักสาน

ร้อยเอ็ดเป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่กึ่งกลางของภาคอีสานมานานกว่า 200 ปี เคยเป็นเมืองใหญ่ที่รุ่งเรืองมาก ชื่อว่า สาเกตนคร มีเมืองขึ้นถึงสิบเอ็ดเมือง (ในสมัยโบราณนิยมเขียนสิบเอ็ดเป็น 101 คือสิบกับหนึ่ง) มีทางเข้าสู่เมืองถึงสิบเอ็ดประตู ปัจจุบันได้มีการพัฒนาในด้านต่าง ๆ มากมาย

ประวัติศาสตร์ของเมืองร้อยเอ็ดเริ่มปรากฏขึ้นในราวสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย โดยมีเจ้าลาวจากนครจัมปาศักดิ์ได้เดินทางมาตั้งบ้านเรือนในบริเวณที่เป็นอำเภอสุวรรณภูมิในปัจจุบัน ต่อมาได้มาพึ่งพระบรมโพธิสมภารสมเด็จพระบรมราชาที่ 3 แห่งกรุงศรีอยุธยา

ในสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้ย้ายเมืองใหม่มาตั้งที่บริเวณเมืองร้อยเอ็ดปัจจุบัน ส่วนเมืองสุวรรณภูมิเดิมก็ยังคงมีอยู่ในสมัยพระบาท สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์คิดกบฎต่อกรุงเทพมหานคร ได้ยกทัพเข้ามาตีหัวเมืองรายทางจนถึงนครราชสีมา แต่ก็ถูกทัพไทยตีแตกพ่ายไปในที่สุด

นอกจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์แล้ว ยังพบหลักฐานทางโบราณคดีแสดงการอยู่อาศัยของคนมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์เช่นกันและรวมทั้งเคยเป็นดินแดนที่อยู่ในเขตอิทธิพลของอาณาจักรขอมโบราณ เพราะพบโบราณสถานแบบขอมหลายแห่ง เช่น กู่พระโกนา อำเภอสุวรรณภูมิ กู่กาสิงห์ อำเภอเกษตรวิสัย ปรางค์กู่ อำเภอธวัชบุรี เป็นต้น

สถานที่ท่องเที่ยวจังหวัดร้อยเอ็ด

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ร้อยเอ็ด : ตั้งอยู่ที่ถนนเพลินจิต ใกล้ศาลากลางจังหวัด เดิมจัดตั้งตามดำริของศาสตราจารย์ ดร.ก่อ สวัสดิพาณิชย์ เพื่อแสดงผ้าไหมพื้นเมืองและงานศิลปหัตถกรรมของจังหวัดร้อยเอ็ด ต่อมากรมศิลปากรมีนโยบายในการจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติประจำเมือง เพื่อแสดงเรื่องราวด้านต่าง ๆ ของจังหวัด

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ร้อยเอ็ด จึงได้ปรับปรุงให้มีลักษณะเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติประจำเมืองแห่งแรกที่จัดตั้งขึ้นใหม่ภายใต้แนวนโยบายนี้ เนื้อหาการจัดแสดงครอบคลุมเกี่ยวข้องกับเรื่องราวต่าง ๆ ของจังหวัดร้อยเอ็ดทั้งสภาพภูมิศาสตร์ ทรัพยากรธรณีโบราณคดี ประวัติศาสตร์ วิถีชีวิตความเป็นอยู่ และงานหัตถกรรมการทอผ้าไหมที่มีชื่อเสียงของจังหวัด เปิดให้เข้าชมทุกวันเว้นวันจันทร์-อังคารและวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 09.00-16.00น. ค่าเข้าชมคนไทย 20 บาท คนต่างชาติ 100 บาท สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 0 4351 4456

อนุสาวรีย์พระขัติยะวงษา (ทน) : ตั้งอยู่กลางวงเวียนห้าแยกสายน้ำผึ้งใกล้วิทยาลัยนาฏศิลป์ร้อยเอ็ด พระขัติยะวงษา (ทน) เป็นบุตรท้าวจารย์แก้ว ได้รับการสถาปนาเป็นเจ้าเมืองร้อยเอ็ดคนแรก เมื่อ พ.ศ. 2318ในรัชสมัยพระเจ้าตากสินมหาราช เป็นผู้นำในการสร้างบ้านแปงเมือง โดยอพยพผู้คนจากเมืองท่งมาตั้งรกรากที่เมืองกุ่มร้าง หรือเมืองร้อยเอ็ด ได้รวบรวมผู้คนบูรณะฟื้นฟูและทะนุบำรุงเมืองร้อยเอ็ดจนเป็นปึกแผ่นเจริญรุ่งเรืองในที่สุด

บึงพลาญชัย : ตั้งอยู่บริเวณกลางเมืองร้อยเอ็ด เป็นสัญลักษณ์ของจังหวัด เป็นเกาะอยู่กลางบึงน้ำขนาดใหญ่ มีเนื้อที่ประมาณ 2แสนตารางเมตร ตกแต่งด้วยสวนไม้ดอกขนาดใหญ่ มีพันธุ์ไม้ต่าง ๆ ร่มรื่น ในบึงมีปลาชนิดต่าง ๆ นอกจากนี้ยังใช้เป็นสถานที่จัดงานเทศกาลรวมทั้งจัดมหรสพต่าง ๆ ภายในบึงพลาญชัยยังมีสิ่งก่อสร้างที่น่าสนใจคือ ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง เป็นศาลคู่บ้านคู่เมืองที่ชาวร้อยเอ็ดเคารพนับถือ

และเชื่อว่าเจ้าพ่อจะช่วยดลบันดาลให้ชาวเมืองมีความสุข สมปรารถนา จึงเป็นสถานที่ที่ชาวเมืองร้อยเอ็ดมากราบนมัสการขอพรเป็นประจำ พระพุทธรูปปางลีลาขนาดใหญ่ กลางสวนดอกไม้ พานรัฐธรรมนูญ นาฬิกาดอกไม้ ภูพลาญชัย มีลักษณะเป็นน้ำตกจำลอง และรูปปั้นสัตว์ต่าง ๆ คล้ายสวนสัตว์ สนามเด็กเล่น และสวนสุขภาพ

สถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด : ตั้งอยู่ใกล้กับบึงพลาญชัย เป็นอาคาร 2 อาคารเชื่อมต่อกัน อาคารแรกประกอบด้วย ห้องโถง ห้องบรรยาย ห้องนิทรรศการ สำนักงาน ห้องจำหน่ายบัตรและของที่ระลึก ส่วนอาคารที่ 2 เป็นส่วนแสดงพันธุ์สัตว์น้ำ ประกอบด้วยตู้ปลาน้ำจืดขนาดเล็ก จำนวน 24 ตู้ ตู้ปลาขนาดใหญ่ 8 x 16 เมตร บรรจุน้ำจืด 400 ลูกบาศก์เมตร มีระบบบำบัดแบบกรองชีวภาพ (BIO FILLER) จำนวน 1 ตู้ จุ

ดเด่นของอาคารนี้ได้แก่ อุโมงค์ลอดใต้ตู้ปลาขนาดใหญ่ สามารถชมความเคลื่อนไหวของสัตว์น้ำได้รอบทิศทาง

เปิดบริการทุกวันพุธ – วันอาทิตย์ เวลา 08.30-16.30 น. วันหยุดนักขัตฤกษ์เปิดให้บริการตามปกติ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 0 4351 1286

วัดบูรพาภิราม : อยู่ในเขตเทศบาลเมือง เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี เดิมชื่อ วัดหัวรอ ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น วัดบูรพาภิราม มีพระพุทธรูปปางประทานพรที่สูงที่สุดในประเทศไทย คือ พระพุทธรัตนมงคลมหามุนี หรือหลวงพ่อใหญ่ สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ความสูงวัดจากพระบาทถึงยอดพระเกศสูงถึง 59 เมตร 20 เซนติเมตร และมีความสูงทั้งหมด 67 เมตร 85 เซนติเมตร ที่ฐานจัดเป็นพิพิธภัณฑ์

นอกจากนี้ภายในบริเวณวัดยังเป็นที่ตั้งศูนย์งานพระธรรมทูต โรงเรียนปริยัติธรรม และมีศาลเจ้าพ่อมเหศักดิ์ซึ่งเป็นที่เคารพของชาวเมืองอยู่ด้วย

ปรางค์กู่ หรือ ปราสาทหนองกู่ : ตั้งอยู่ที่บ้านยางกู่ ตำบลมะอึ ปรางค์กู่ คือ กลุ่มอาคารที่มีลักษณะแบบเดียวกับอโรคยาศาลตามที่ปรากฏในจารึกปราสาทตาพรหม ประกอบด้วยปรางค์ประธาน บรรณาลัย กำแพงพร้อมซุ้มประตูและสระน้ำนอกกำแพง โดยทั่วไปนับว่าคงสภาพเดิมพอควร โดยเฉพาะปรางค์ประธานชั้นหลังคาคงเหลือ 3ชั้น และมีฐานบัวยอดปรางค์อยู่ตอนบน อาคารอื่น ๆ แม้หักพังแต่ทางวัดก็ได้จัดบริเวณให้ดูร่มรื่นสะอาดตา

ภายในกำแพงด้านหน้าทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ยังพบโบราณวัตถุอีกหลายชิ้นวางเก็บรักษาไว้ใต้อาคารไม้ ได้แก่ ทับหลังหินทราย สลักเป็นภาพบุคคลนั่งบนหลังช้างหรือวัว ภายในซุ้มเรือนแก้วหน้ากาล จากการสอบถามเจ้าอาวาสวัดศรีรัตนาราม

กล่าวว่า เป็นทับหลังหน้าประตูมุขของปรางค์ประธาน เสากรอบประตู 2 ชิ้น ชิ้นหนึ่งมีภาพสลักรูปฤาษีที่โคนเสาศิวลึงค์ขนาดใหญ่พร้อมฐานที่ได้จากทุ่งนาด้านนอกออกไป และชิ้นส่วนบัวยอดปรางค์ ซึ่งถูกดัดแปลงเป็นฐานของพระสังกัจจายน์ปูนปั้น สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 18 เดินทาง

จากตัวเมืองใช้ทางหลวงหมายเลข 23 (ร้อยเอ็ด-ยโสธร) 10 กิโลเมตร ถึงที่ว่าการอำเภอธวัชบุรี ฝั่งตรงข้ามมีทางแยกซ้ายไปปรางค์กู่ ระยะทาง 6 กิโลเมตร หรือใช้ทางหลวงหมายเลข 2044 (ร้อยเอ็ด-โพนทอง) ไปอีก 8 กิโลเมตร มีทางแยกขวาไปปรางค์กู่ประมาณ 1 กิโลเมตร

วัดป่าโนนสวรรค์ : ตั้งอยู่บ้านเทอดไทย ตำบลเทอดไทย เป็นวัดขนาดใหญ่สร้างมาจากนิมิตของเจ้าอาวาส โดยใช้หม้อดินของชาวบ้านมาประดับตกแต่งจึงดูสวยงามแปลกตา เจดีย์ประธานหลายชั้นทางเข้าจะเป็นปากหนุมานแต่ละชั้นจะมีจิตรกรรมฝาผนังเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า ซุ้มประตูวัดมีเต่ายักษ์ 2 ตัว ดูคล้ายศิลปะทางขอมและอินเดีย การเดินทาง ตามเส้นทางร้อยเอ็ด-ธวัชบุรี-เสลภูมิ (ทางหลวงหมายเลข 23) กิโลเมตรที่ 139-140 เลี้ยวขวาเข้าไป 7 กิโลเมตร ห่างจากตัวเมือง 18 กิโลเมตร

กู่กาสิงห์ : ตั้งอยู่ในวัดบูรพากู่กาสิงห์ ตำบลกู่กาสิงห์ เป็นสถาปัตยกรรมแบบเขมรอีกแห่งหนึ่งขนาดค่อนข้างใหญ่ และยังอยู่ในสภาพดีพอควร ประกอบด้วยปรางค์ 3องค์ ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงเดียวกัน มีวิหารหรืออาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่เรียกว่าบรรณาลัย อยู่ทางด้านหน้าทั้งสองข้าง ล้อมรอบด้วยกำแพงซึ่งมีซุ้มประตูทั้ง 4 ทิศ ถัดออกไปเป็นคูน้ำรูปเกือกม้าล้อมรอบอีกชั้นหนึ่ง

ปรางค์ประธานหรืออาคารหลักที่มี 3 องค์นั้น ตั้งเรียงอยู่บนฐานเดียวกันในแนวเหนือ-ใต้ แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ปรางค์องค์กลางมีขนาดใหญ่กว่าอีก 2 องค์ที่ขนาบข้าง และมีมุขยื่นทางด้านหน้าเป็นห้องยาว มีประตูทางเข้า 3 ทาง คือด้านหน้าและด้านข้างของห้องยาวทั้งสอง ส่วนฐานขององค์ปรางค์ก่อด้วยศิลาทรายยังคงปรากฏลวดลายสลักเป็นชั้นเป็นแนว เช่น ลายกลีบบัวและลายกนก ผนังก่ออิฐ ที่ห้องในสุดหรือส่วนครรภคฤหะได้ค้นพบศิวลึงค์ ซึ่งเป็นตัวแทนของเทพสูงสุด (พระอิศวร) และความอุดมสมบูรณ์ตามลัทธิความเชื่อในศาสนาพราหมณ์ลัทธิไศวนิกาย

นอกจากนี้ ยังพบทับหลังอีกหลายชิ้น ชิ้นหนึ่งสลักเป็นภาพพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณในซุ้มเรือนแก้ว โดยยืนอยู่เหนือหน้ากาล ซึ่งมีมือยึดจับท่อนพวงมาลัยอีกทีหนึ่ง และยังได้พบซุ้มหน้าบันสลักเป็นภาพพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณท่ามกลางลายก้านขดอีกด้วย

ส่วนปรางค์อีก 2 องค์ที่ขนาบนั้น มีขนาดและลักษณะเดียวกัน ฐานก่อด้วยศิลาทราย ผนังก่ออิฐมีประตูเพียงด้านหน้า ภายในมีแท่นรูปเคารพวางอยู่จากลวดลายของศิลปกรรม แบบแผนผังและโบราณวัตถุที่พบแสดงให้ทราบว่า กู่กาสิงห์สร้างขึ้นในแบบศิลปะเขมรที่เรียกว่า “แบบบาปวน” อายุราว พ.ศ. 1560-1630 เพื่อเป็นเทวสถานอุทิศถวายแด่พระอิศวร เทพเจ้าสูงสุดองค์หนึ่งในศาสนาพราหมณ์ ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เทศบาลตำบลกู่กาสิงห์ โทร 0 4363 2125

การเดินทาง สามารถเดินทางได้ 2 ทาง คือ ใช้เส้นทางร้อยเอ็ด-เกษตรวิสัย ทางหลวงหมายเลข 214 ระยะทาง 47 กิโลเมตร เดินทางต่อไปตามทางหลวงสายเกษตรวิสัย-สุวรรณภูมิ 10 กิโลเมตร มีทางแยกขวาเข้ากู่กาสิงห์ระยะทาง 10 กิโลเมตร หรืออาจใช้เส้นทางสายร้อยเอ็ด-สุวรรณภูมิ-สุรินทร์ (ทางหลวงหมายเลข 215 ต่อด้วย 214) ระยะทาง 60 กิโลเมตร ถึงวัดกู่พระโกนา ด้านตรงข้ามวัดมีทางแยกไปกู่กาสิงห์ อีก 18 กิโลเมตร

ทุ่งกุลาร้องไห้ : มีเนื้อที่ 2,107,681 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 5 จังหวัด คือ ในแนวทิศเหนือครอบคลุมอำเภอปทุมรัตน์ อำเภอเกษตรวิสัย อำเภอสุวรรณภูมิ และอำเภอโพนทราย ของจังหวัดร้อยเอ็ด ในแนวทิศใต้มีลำน้ำมูลทอดยาวตลอดพื้นที่อำเภอชุมพลบุรี อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ ในแนวทิศตะวันตก ผ่านอำเภอพุทไธสง จังหวัดบุรีรัมย์ อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร และอำเภอพยัคฆภูมิพิสัยของจังหวัดมหาสารคาม ซึ่งในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ 3 ใน 5 นั้นอยู่ในเขตจังหวัดร้อยเอ็ด

สาเหตุที่ได้ชื่อว่าทุ่งกุลาร้องไห้นั้น มีเรื่องเล่ากันว่า พวกกุลาซึ่งเป็นพวกที่เดินทางค้าขายระหว่างเมืองต่าง ๆ ในสมัยโบราณได้ชื่อว่าเป็นนักต่อสู้ คือ มีความเข้มแข็งอดทนเป็นเยี่ยม แต่เมื่อพวกกุลาเดินทางมาถึงทุ่งนี้ ได้รับความทุกข์ยากเป็นอันมากถึงกับร้องไห้ เพราะตลอดทุ่งนี้ไม่มีน้ำหรือต้นไม้ใหญ่เลย ฤดูแล้งแผ่นดินก็แห้งแตกระแหง ซึ่งเป็นพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ในอดีต ปัจจุบันพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้เป็นพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิที่มีชื่อเสียง

กู่พระโกนา : ตั้งอยู่ที่บ้านกู่ หมู่ 2 ตำบลสระคู กู่พระโกนา ประกอบด้วยปรางค์อิฐ 3 องค์ บนฐานศิลาทราย เรียงจากเหนือ-ใต้ ทั้งหมดหันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีกำแพงล้อมและซุ้มประตูเข้า-ออกทั้ง 4 ด้าน ก่อด้วยหินทรายเช่นกัน ปรางค์องค์กลางถูกดัดแปลงเมื่อ พ.ศ. 2417 โดยการฉาบปูนทับและก่อขึ้นเป็นชั้นๆ แต่ละชั้นมีซุ้มพระทั้ง 4 ทิศ หน้าปรางค์องค์กลางชั้นล่างสร้างเป็นวิหารพระพุทธบาทประดับเศียรนาค 6 เศียรของเดิมไว้ด้านหน้า

ส่วนปรางค์อีก 2 องค์ ได้รับการบูรณะ แต่ไม่ถึงกับเปลี่ยนรูปทรงอย่างปรางค์องค์กลาง  ปรางค์องค์ทิศเหนือทางวัดสร้างศาลาครอบภายในมีหน้าบันสลักเรื่อง รามายณะ และทับหลังสลักภาพพระนารายณ์บรรทมสินธุ์ติดอยู่ที่เดิม คือเหนือประตูทางด้านหน้า

ส่วนทับหลังประตูด้านทิศตะวันตกหล่นอยู่บนพื้นเป็นรูปนารายณ์ทรงครุฑ ปรางค์องค์ทิศใต้ยังคงมีทับหลังของเดิมเหนือประตูหลอก ด้านทิศเหนือเป็นภาพเทวดานั่งชันเข่าในซุ้มเรือนแก้วเหนือหน้ากาล นอกจากนี้ทางด้านหน้ายังมีทับหลังหล่นอยู่ที่พื้น เป็นภาพพระอิศวรประทับนั่งบนหลังโค และมีเสานางเรียงวางอยู่ด้วย สันนิษฐานว่ากู่พระโกนาเดิมจะมีสะพานนาคและทางเดินประดับเสานางเรียงทอดต่อไป

จากซุ้มประตูหน้าไปยังสระน้ำ หรือบารายซึ่งอยู่ห่างออกไป 300 เมตร จากรูปแบบ สันนิษฐานว่ากู่พระโกนาคงจะสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 16 กู่พระโกนาอยู่ห่างจากอำเภอเมือง 60 กิโลเมตร ไปตามทางหลวงหมายเลข 215 ผ่านอำเภอเมืองสรวง อำเภอสุวรรณภูมิ จากนั้นเข้าทางหลวงหมายเลข 214 ไปอีก 12 กิโลเมตร กู่พระโกนาจะอยู่ทางซ้ายมือ ด้านหน้าทางเข้าจะเป็นสวนยาง บริเวณวัดมีลิงแสมอาศัยอยู่

บึงเกลือ (ทะเลอีสาน) : อยู่ในเขตตำบลบึงเกลือ เป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ มีเนื้อที่ 7,500 ไร่ ในบึงน้ำแห่งนี้มีน้ำขังตลอดปี ริมบึงมีหาดทรายขาวสะอาดกว้างขวาง มีแพร้านอาหารบริการอาหารอีสานและอาหารตามสั่ง นักท่องเที่ยวนิยมมาพักผ่อนและเล่นกีฬาทางน้ำ การเดินทาง จากอำเภอเมือง ไปตามทางหลวงหมายเลข 23 ผ่านอำเภอธวัชบุรี จากอำเภอเสลภูมิ 1 กิโลเมตร และเลี้ยวซ้ายทางไปบ้านเมืองไพร 8 กิโลเมตร

สิมวัดจักรวาฬภูมิพินิจ หรือ วัดหนองหมื่นถ่าน : ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านหนองหมื่นถ่าน ตำบลหนองหมื่นถ่าน สิมวัดจักรวาฬภูมิพินิจ มีลักษณะทางศิลปกรรมแบบพื้นเมืองอีสาน ประเภทสิมทึบ หน้าบันหรือรังผึ้งมีลวดลายแกะสลักไม้ หลังคาทำจากกระเบื้องไม้ ภายนอกมี ฮูปแต้ม เป็นภาพพุทธประวัติตอนมารผจญ ภาพขุมนรก และภาพพระพุทธองค์ขณะปลงพระเกศามีพระอินทร์มารับนำไปประดิษฐานยังเจดีย์จุฬามณี

ภายในโบสถ์มีภาพวรรณคดีพื้นเมืองเรื่องสังข์ศิลป์ชัย สันนิษฐานว่ามีอายุในราวสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น การเดินทาง จากอำเภอเมือง เดินทางตามทางหลวงหมายเลข 2043 ถึงอำเภออาจสามารถเดินทางต่อไปอีก 10 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวเข้าทางบ้านหนองหมื่นถ่าน 2 กิโลเมตร

ผาน้ำย้อย (พุทธอุทยานอีสาน) : ตั้งอยู่ที่บ้านโคกกลาง ตำบลผาน้ำย้อย เป็นผาหินขนาดใหญ่ มีน้ำไหลซึมตลอดปี อยู่บนภูเขาเขียว แบ่งพรมแดนระหว่างอำเภอหนองสูง จังหวัดมุกดาหาร และอำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ มีเนื้อที่ประมาณ 20,000 ไร่ เป็นป่าไม้นานาชนิด มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่หลายชนิด เช่น หมูป่า เก้ง กวาง ไก่ป่า

ผาน้ำย้อยอยู่สูงจากระดับพื้นดิน 200 เมตร และสูงกว่าระดับน้ำทะเล 380-500 เมตร บนเขามีวัดผาน้ำทิพย์เทพประสิทธิ์วนาราม มีเนื้อที่ 2,500 ไร่ โดยมีพระอาจารย์ศรีมหาวิโร ซึ่งเป็นศิษย์ของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง

พระมหาเจดีย์ชัยมงคล : เป็นพระเจดีย์ใหญ่องค์หนึ่งของประเทศไทยออกแบบโดยกรมศิลปากร สีขาวตกแต่งลวดลายตระการตาด้วยสีทองเหลืองอร่าม รายล้อมด้วยเจดีย์องค์เล็กทั้ง 8 ทิศ มีความกว้าง 101 เมตร ความยาว 101 เมตร ความสูง 101 เมตร สร้างในเนื้อที่ 101 ไร่ เป็นพระเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และได้ตกแต่งลวดลายงามวิจิตรของศิลปะยุคใหม่และยุคเก่าผสมเป็นศิลปะร่วมสมัยที่หาดูได้ยาก พระมหาเจดีย์ชัยมงคลนี้ตั้งอยู่ในบริเวณวัดเจดีย์ชัยมงคล ภายในพระมหาเจดีย์มีทั้งหมด 6 ชั้น คือ

ชั้นที่ 1 เป็นชั้นอเนกประสงค์ ใช้สำหรับทำพิธีสำคัญทางพุทธศาสนา ชั้นนี้เป็นสีชมพูตัดกับสีทอง มีรูปหล่อขนาดใหญ่ของหลวงปู่ศรี มหาวีโร มีความสูง 310 เซนติเมตร

ชั้นที่ 2 เป็นชั้นประชุมสงฆ์ ชั้นนี้เป็นสีน้ำเงินเข้มตัดกับสีทอง มีพระพุทธรูปปางปฐมเทศนาประดิษฐานอยู่ตรงกลาง ผนังเป็นภาพพุทธประวัติ ทศชาติ

ชั้นที่ 3 เป็นชั้นพระอุโบสถ เป็นสีแดงตัดกับสีทอง มีพระประธานเป็นพระพุทธชินราชหน้าตักกว้าง 101นิ้ว ตรงหน้ามีรูปหล่อหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต และหล่อรูปเหมือนของคณาจารย์อีก 8 องค์ บริเวณผนังมีรูปหล่อคณาจารย์นักปราชญ์สายอีสาน 93 องค์ รวมทั้งหมด 101 องค์ ด้านบนเป็นการเขียนสีลงบนกระจกเป็นภาพพุทธอิริยาบถ 48 ภาพ

ชั้นที่ 4 เป็นชั้นชมวิวทิวทัศน์ของภูเขาเขียวโดยรอบองค์พระมหาเจดีย์

ชั้นที่ 5 เป็นชั้นพิพิธภัณฑสถาน แสดงวัดวาอาราม ตลอดจนสถานปฏิบัติสมถวิปัสสนากัมมัฏฐานที่หลวงปู่ศรี มหาวีโร เคยบำเพ็ญมา บริเวณรอบนอก บนกรอบระดับหน้าต่างบานใหญ่ทั้ง 4 ด้าน เป็นที่สถิตย์ยืนพระพุทธเจ้าสี่ปาง

ชั้นที่ 6 อยู่เหนือสุดบันได 119 ชั้น เป็นชั้นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่อัญเชิญมาจากประเทศศรีลังกา เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2540 และอัฐิธาตุของเกจิอาจารย์สายอีสาน ยอดขององค์เจดีย์ เป็นยอดเศวตฉัตรทองคำแท้น้ำหนัก 4,750 บาท หรือเท่ากับ 60 กิโลกรัม การเดินทางไปตามเส้นทางสายร้อยเอ็ด-อำเภอโพนทอง-อำเภอหนองพอก ระยะทาง 80 กิโลเมตร จากตัวเมืองร้อยเอ็ด ตามทางหลวงหมายเลข 2044 และ 2136

เขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำผาน้ำทิพย์ : ครอบคลุมพื้นที่ 151,242ไร่ สภาพพื้นที่จะเป็นเทือกเขาหินทรายสูงชันและสลับซับซ้อน ประกอบด้วยป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณและป่าเต็งรัง มีความอุดมสมบูรณ์ สัตว์ป่าที่พบในพื้นที่ป่าแห่งนี้ ได้แก่ หมูป่า เก้ง สุนัขจิ้งจอก ลิง กระรอก กระแต เป็นต้น จุดท่องเที่ยวที่น่าสนใจในบริเวณนี้ คือ ผาภูไท เป็นจุดชมพระอาทิตย์ขึ้น และผาหมอกมิวาย เป็นจุดชมพระอาทิตย์ตก

นอกจากนี้ยังมีเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ 2 เส้นทาง ระยะทาง 2 กิโลเมตร และ 3 กิโลเมตร ผาหมอกมิวาย อยู่ภายในบริเวณสำนักงานเขตห้ามล่าสัตว์ป่าผาน้ำทิพย์ เป็นจุดที่มองเห็นทิวทัศน์ธรรมชาติอันสวยงาม มีหมอกปกคลุมตลอดทั้งปี

การเดินทาง จากกรุงเทพมหานคร ใช้ทางหลวงหมายเลข 2 ถึงจังหวัดขอนแก่น-หนองพอก จังหวัดร้อยเอ็ด ใช้ทางหลวงหมายเลข 209 และ 2116 จากอำเภอหนองพอกถึงบ้านท่าสะอาด ระยะทาง 9 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายจากบ้านท่าสะอาดถึงสำนักงานเขตห้ามล่าสัตว์ป่าผาน้ำทิพย์ 13 กิโลเมตร บริเวณเขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำผาน้ำทิพย์ มีบริการบ้านพักและสถานที่สำหรับกางเต็นท์

หากต้องการเข้าพักเป็นหมู่คณะ ควรทำหนังสือติดต่อล่วงหน้าถึงหัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าผาน้ำทิพย์ ตู้ ปณ.1 ตำบลบึงงาม อำเภอหนองพอก จังหวัดร้อยเอ็ด 45210 โทร 0 4350 1115