วัดบูรพาราม ศูนย์รวมทางจิตใจชาวสุรินทร์ อ.เมืองสุรินทร์

วัดบูรพาราม วัดเก่าแก่กลางเมือง ที่ถือเป็นศูนย์รวมทางจิตใจของชาวสุรินทร์ วัดนี้สร้างขึ้นในสมัยกรุงธนบุรี มีอายุประมาณ 200 ปี เท่า ๆ กับอายุของ จ.สุรินทร์ โดย “พระยาสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์ จางวาง” หรือ (ปุม) เจ้าเมืองสุรินทร์คนแรก ร่วมมือกันสร้างกับชาวบ้าน เมื่อประมาณ พ.ศ. 2300-2330 ซึ่งตั้งชื่อในตอนนั้นว่า “วัดบูรพ์”

แรกเริ่มเดิมที วัดนี้เป็นวัดมหานิกาย แต่ต่อมาใน ปี พ.ศ. 2476 สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสโสอ้วน) ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะมณฑล ได้อนุมัติให้วัดบูรพ์เป็นวัดในสังกัดคณะธรรมยุตและได้นิมนต์ พระราชวุฒาจารย์ หลวงปู่ดุลย์ อตุโล ซึ่งปฏิบัติธุดงค์กรรมฐานอยู่ ให้มาประจำอยู่ที่วัดบูรพาราม ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส และร่วมเป็นคณะพระสังฆาธิการ

วัดบูรพาราม ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2520 และเป็นวัดสำคัญของจังหวัดสุรินทร์ เนื่องมากจากเป็นที่ประดิษฐาน หลวงพ่อพระชีว์ (หลวงพ่อประจี) พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของสุรินทร์ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อใด แต่สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นมาพร้อมกับวัดบูรพาราม ประดิษฐานอยู่ในมณฑปจัตุรมุข นับเป็นปูชนียวัตถุที่ชาวสุรินทร์เคารพบูชาอย่างมาก

นอกจากนี้ ยังเป็นวัดที่พระราชวุฒาจารย์ (หลวงปู่ดุลย์ อตุโล) พระเถระสายพระกัมมัฏฐานด้านการภาวนาจิต ที่มีชื่อเสียงในหมู่ผู้ปฏิบัติธรรม สายพระกัมมัฏฐาน ท่านได้เคยจำพรรษาอยู่ ณ วัดบูรพาราม ตั้งแต่ พ.ศ. 2477 จนกระทั่งมรณภาพ พ.ศ. 2526 ภายในวัดมีพิพิธภัณฑ์หลวงปู่ดุลย์ ซึ่งเป็นสถานที่ประดิษฐานรูปเหมือนหลวงปู่ดุลย์ อตุโล

ที่ตั้ง : ต.ในเมือง อ.เมือง จ.สุรินทร์