ประวัติความเป็นมา จ. บึงกาฬ เป็นจังหวัดน้องใหม่ที่ 77 ของประเทศไทย มีความหลากหลายและความแปลกใหม่ที่น่าอัศจรรย์ ทั้งอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว ของฝาก รวมไปถึงชีวิตของผู้คนที่อาศัยอยู่แบบพี่น้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
ถ้าพูดถึงบึงกาฬตอนนี้ คงไม่มีใครไม่รู้จัก “ผ้าขาวม้าดารานาคี” จึงไม่แปลกใจหากใครผ่านมาเที่ยว จ.บึงกาฬ จึงต้องแวะมาที่กลุ่มทอผ้าฝ้ายพื้นเมืองบ้านสะง้อ ซึ่งตั้งอยู่ที่ 91 ม. 2 บ้านสะง้อ ต. หอคำ อ. เมือง ซึ่งเปิดให้บริการสำหรับบุคคลที่สนใจเข้ามาเรียนรู้การทำผ้าขาวม้าที่สามารถสร้างรายได้และเป็นสินค้าขึ้นชื่ออันดับหนึ่งของจังหวัด
สมพร แสงกองมี ทายาทรุ่นที่ 2 กลุ่มทอผ้าฝ้ายพื้นเมืองบ้านสะง้อ เล่าว่า จุดเริ่มต้น คือ ได้รับมรดกการทอผ้าขาวม้าจากคุณตาคุณยาย ซึ่งจะเรียกว่าเป็นมรดกของชุมชนก็ว่าได้ เพราะเริ่มมีการทำผ้าขาวม้ามาตั้งแต่ปี 2544 แต่เดิมเป็นผ้าขาวม้าสีเคมี ลายผ้าก็จะเป็นลวดลายทั่วไป หลังจากรับมรดกมาก็ไปออกงานแสดงสินค้า มองไปทางไหนก็เห็นผ้าขาวม้าเหมือน ๆ กันหมด ก็เลยคิดว่าจะต้องเปลี่ยน ต้องฉีกแนวหาเอกลักษณ์ให้ตัวเอง หาสิ่งที่ชุมชนมี ซึ่งก็คือ ธรรมชาติ อีกทั้งได้รับเชิญให้เข้ารับการอบรมเพื่อเพิ่มพูนความรู้จากหน่วยงานต่าง ๆ ของภาครัฐ และนำมาต่อยอดกับผ้าขาวม้าของตนเอง
หลังจากเข้ารับการอบรมก็ได้รับคำแนะนำว่า สีธรรมชาติตลาดยังไปได้อยู่ และเพียงคำว่า “เปลี่ยน” จากการดูวิดีทัศน์ จนทำให้มีการเปลี่ยนการย้อมผ้าจากสีเคมีมาเป็นสีธรรมชาติแทน
เอกลักษณ์ความโดดเด่นของผ้า
โดยศึกษาและทดลองด้วยตัวเอง ลองผิดลองถูกและหาวัตถุดิบจากธรรมชาติที่อยู่ในท้องถิ่น เพื่อนำมาต่อยอดให้แก่ผ้าขาวม้า เช่น มะค้อ (หมากค้อเขียว) หรือผลไม้พันปี ชมพู่มะเหมี่ยว ราชพฤกษ์ เป็นต้น
เธอเล่าต่อว่า การนำวัตถุดิบจากธรรมชาติมาย้อมแล้ว สียังไม่เข้มข้นพอตามที่ต้องการ จึงเริ่มศึกษาวิชาจากคนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้านที่มีภูมิปัญญาชาวบ้านดั้งเดิมว่าสมัยก่อนใช้อะไรย้อมผ้า จากที่นำเปลือกไม้มาแช่น้ำ 7 คืน ให้ออกสี กว่าจะนำไปย้อม รวม ๆ แล้วเป็นเดือน ระยะเวลานี้นานพอสมควร จึงหาวิธีใหม่ด้วยตัวเอง จากการนำโคลนทุกบ่อมาทดสอบจนได้สีที่ต้องการ หรือที่เรียกกันว่าโคลนพันปี และตั้งชื่อว่า “โคลนนาคี” เพราะเป็นโคลนที่อยู่ในจุดที่เกิดบั้งไฟพญานาค โคลนบ่อนี้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ มีประวัติยาวนาน สมัยก่อนเป็นทางเดินของสัตว์ เช่น วัว ควาย ช้าง กระทิง ฯลฯ ลงมากินน้ำจากแม่น้ำโขง เดินจนเป็นร่องนับพันปี โคลนนาคีมีคุณสมบัติช่วยให้ผ้านุ่ม สีเด่นชัดนั้น คือ “สีเทา” ที่ได้จากโคลนนาคี ซึ่งมีสีที่ไม่เหมือนใครและเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว
ที่ตั้งและการติดต่อ
สถานที่ติดต่อ : กลุ่มทอผ้าฝ้ายพื้นเมืองบ้านสะง้อ
ที่ตั้ง : 91 ม. 2 บ้านสะง้อ ต. หอคำ อ. เมือง จ. บึงกาฬ
โทรศัพท์ : 08 4408 2865, 09 5664 7134
ลักษณะและลวดลายการทอหรือการผลิต
ขั้นตอนการผลิต อย่างไรก็ตามกระบวนการหมักโคลนจะต้องย้อมสีฝ้ายด้วยสีจากธรรมชาติก่อน ตามคำขวัญของกลุ่มทอผ้าฝ้ายพื้นเมืองบ้านสะง้อ คือ ผลไม้พันปี คือ หมากค้อเขียว นารีสีสวย คือ ชมพู่มะเหมี่ยว รวยได้รวยดี คือ ราชพฤกษ์ หลังจากนั้นก็นำมาย้อมโคลน จนได้สีโคลนหรือสีเทา และสีน้ำตาลอ่อนได้จากปูนกินหมาก จากนั้นจะนำไปหมักโคลนก่อนทอเป็นผืน
ความภูมิใจของคนบึงกาฬ “บ้านหลังนี้ครบวงจร เป็นทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เทียบกับที่อื่นยังเล็กมาก แต่เราใหญ่ในชุมชน แต่ก่อนไม่มีใครทำเลยเชื่อมั้ย แม่จะดีใจทุกครั้งที่ได้ยินเสียงกี่ดังไปทั่วชุมชน เป็นความสำเร็จของแม่ที่มากระทุ้งให้เสียงกี่ดังขึ้นมาอีกครั้ง” สมพรกล่าว
ผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงหรือโดดเด่น
ทายาทรุ่นที่ 2 กลุ่มทอผ้าฝ้ายพื้นเมืองบ้านสะง้อ กล่าวถึงจุดเด่นที่ทำให้ผ้าขาวม้าไม่เหมือนใครและมีผู้คนสนใจผ้าขาวม้าดารานาคีของ จ. บึงกาฬ ว่า สีที่นำมาย้อมผ้านั้นเป็นสีจากธรรมชาติ ไม่มีสีเคมีเจือปนในการย้อม ซึ่งปลอดภัยต่อผู้บริโภค สีที่ได้จากธรรมชาตินั้น คือ สีจากหมากค้อเขียว ชมพู่ม่าเหมี่ยว และราชพฤกษ์ รวมถึงจากโคลนนาคี ที่ได้จากธรรมชาติสามารถย้อมแล้วช่วยให้ผ้านุ่ม สีไม่ตก และเป็นสิ่งที่หาได้ตามธรรมชาติและมีที่เดียวในโลกซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของ จ. บึงกาฬ อีกด้วย
“ผ้าขาวม้าดารานาคี” นอกจากจะเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านแล้ว ยังสร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชนและชาวบ้านอีก 4 อำเภอ ใน จ. บึงกาฬ ซึ่งในอนาคตมีแนวทางที่จะขยายให้กับอีก 4 อำเภอที่เหลือ เพื่อให้มีรายได้ให้แก่ชาวบ้านและชุมชนเพื่อนำไปพัฒนากลุ่มแม่บ้านที่ทำผ้าขาวม้าดารานาคีต่อไป